ต้นกล้าชุมชน “พรกนก ลาภเกิด” ผู้สืบสานภูมิปัญญางานจักสานผิวไม้ไผ่-ไร้มอด พัฒนา-ต่อยอด สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน

1158
0
Share:

เครื่องจักสานจากไม้ไผ่ในอดีต ได้นำมาใช้เป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ในกิจวัตรประจำวันในหลายๆ พื้นที่ของประเทศไทย แม้ว่าในปัจจุบันงานเครื่องจักสานจะมีการพัฒนารูปแบบให้มีความสวยงาม คงทน เพื่อนำมาใช้เป็นของสะสม ของประดับมากขึ้น แต่การผลิตเพื่อใช้งานในพื้นที่ชนบทก็ยังคงมีอยู่ และงานจักสานส่วนใหญ่ เมื่อใช้ไประยะหนึ่งมักจะพบปัญหา “มอด” กัดกินผิวไม้ที่นำมาใช้จักสาน ทำให้อุปกรณ์เครื่องใช้ชิ้นนั้นชำรุด

 

 

เครื่องจักสานผิวไม้ไผ่จากไผ่ซางนวล พืชท้องถิ่นของดีแห่งชุมชนบ้านนางาม อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ที่ใช้ผิวไม้ไผ่เป็นวัสดุหลักในการสาน ทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นมีความคงทน แม้จะใช้ไปนานๆ มอดก็ไม่ขึ้น นับเป็นอีกหนึ่งงานเครื่องจักสานที่เกิดจากภูมิปัญญาบรรพบุรุษ ที่คิดค้นการจักสานวัสดุสิ่งของ โดยมีลวดลายที่เป็นลายเฉพาะถิ่นที่รู้จักกันในชื่อของ “ลายก่องข้าวดอก” ซึ่งชาวบ้านนางามยังคงสืบทอดมาจนทุกวันนี้

“โบว์ พรกนก ลาภเกิด” ต้นกล้าชุมชนรุ่นที่ 6 จากโครงการต้นกล้าชุมชน โดยมูลนิธิเอสซีจี หนึ่งในสมาชิกชุมชนบ้านนางาม ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของการพัฒนา และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์จักสานผิวไม้ไผ่ที่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นบ้านเกิด รวมถึงการพัฒนาตลาดให้มีช่องทางจำหน่ายมากขึ้น และการฝึกคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ให้หันมาทำงานจักสานที่นอกจากจะสร้างรายได้โดยไม่ต้องออกไปหางานทำนอกชุมชนแล้ว ยังเป็นการสืบสานภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของถิ่นฐานบ้านเกิด เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญของชุมชนแห่งนี้ที่ได้ใช้หลักการ Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด ด้วยการใช้ทักษะที่มีอยู่ทั้ง ทักษะความรู้ หรือ Hard Skill และทักษะชีวิต หรือ Soft Skill

“เคยมีโอกาสได้ร่วมอบรมในโครงการรักษ์น้ำจากภูผาสู่มหานทีของ SCG สาขาลำปาง ก็ได้นำความรู้ที่ได้จากการอบรมในครั้งนั้นมาต่อยอดกับงานจักสานในชุมชน และอยากจะอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้ไว้ เพราะวัสดุที่นำมาสานคือผิวไม้ไผ่จากไผ่ซางนวล ที่เป็นพืชท้องถิ่น มีความแข็งแรง ทนทาน มอดไม่ขึ้น และลวดลายที่สาน คือลายก่องข้าวดอก เป็นลายประจำท้องถิ่นที่มีมานานถึง 142 ปี ควรจะสืบทอดให้ลายจักสานนี้คงอยู่ตลอดไป จึงเริ่มจากการชักชวนสมาชิกกลุ่มให้ไปจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนจักสานผิวไม้ไผ่บ้านนางามเมื่อปี 2563”

หลังจากที่ “ต้นกล้าโบว์” ได้ทดลองขายงานจักสานทางเฟซบุ๊กส่วนตัว รวมถึงการฝากวางขายตามร้านค้าต่างๆ จากเดิมที่ทางกลุ่มจักสานจะรอนำผลิตภัณฑ์มาขายตามงานออกร้านในอำเภอเท่านั้น ได้พบว่ามียอดสั่งซื้อมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยอดสั่งซื้อหายไปเพราะร้านค้าที่เคยฝากวางขายก็ปิดทำการ จึงต้องหาวิธีเพื่อช่วยให้สมาชิกกลุ่มที่มีอยู่ประมาณ 30 คน อยู่รอดได้ ต้นกล้าโบว์ได้เรียนรู้ว่าการขายของทางออนไลน์สามารถขายได้ จึงมาสร้างเฟซบุ๊ก ‘จักสาน บ้านนางาม’ และเฟซบุ๊กเพจ ‘กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานผิวไม้ไผ่บ้านนางาม’ เพื่อให้เป็นช่องทางขายที่เป็นทางการและเป็นช่องทางขายที่ถาวร ทำให้งานจักสานของชุมชนได้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และชุมชนกลับมามีรายได้อีกครั้ง จากยอดขายที่เคยทำได้คนละ 500-ไม่เกิน 2,000 ต่อเดือน ก็เพิ่มมากขึ้น โดยสมาชิกกลุ่มในปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ยถึงคนละ 1,000-6,000 บาทต่อเดือน จากงานจักสานเดิมที่มีเพียงกระติ๊บข้าว ก็พัฒนาต่อยอดเป็นของใช้อื่น เช่น กระเป๋ารูปทรงต่างๆ กระจาด ตะกร้าทรงกลม ทรงเหลี่ยม ทำให้ขยายตลาดได้มากขึ้น โดยเน้นเจาะกลุ่มคนวัยทำงาน พร้อมทั้งพัฒนาการผลิตด้วยการนำจักรเย็บเข้ามาใช้งาน ทำให้มีกำลังการผลิตมากขึ้น นอกจากนี้ยังชักนำคนรุ่นใหม่ในชุมชนให้เข้ามาเรียนรู้งานจักสาน เพื่อที่จะสืบทอดมรดกภูมิปัญญาของท้องถิ่นให้คงอยู่ และยังเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้คนในชุมชน ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง มีรายได้และพึ่งพาตัวเองได้

เมื่อมีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการต้นกล้าชุมชนของมูลนิธิเอสซีจี “ต้นกล้าโบว์” ได้นำเงินที่ได้รับการสนับสนุนมาใช้ปรับปรุงศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชนจักสานผิวไม้ไผ่บ้านนางาม การสร้างเครือข่ายและพัฒนาผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งต่อยอดด้วยความหวังที่จะให้กลุ่มวิสาหกิจฯ แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงานแก่นักเรียน นักศึกษา หน่วยงานราชการ และภาคประชาชน แม้ว่าในวันนี้จะยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ 100% แต่ต้นกล้าโบว์และสมาชิกกลุ่มยังมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะทำให้ศูนย์ฯ แห่งนี้เป็นศูนย์การเรียนรู้ครบวงจร

“หลังจากที่คุณแม่รับงานกลุ่มจักสานมาดูแลในฐานะประธานกลุ่ม ตอนนั้นก็ไม่ได้มีเงินทุนมากนัก เงินก้อนนั้นต้องใช้หมุนเวียนทั้งการจัดซื้อวัตถุดิบที่จะนำมาผลิต แล้วยังต้องสำรองไว้สำหรับซื้อผลิตภัณฑ์ของสมาชิกกลุ่มด้วย พอมาเจอสถานการณ์โควิด ก็ทำให้ต้องหาช่องทางขายของให้ได้ ตอนที่เปิดเพจเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ก็คิดเพียงแค่ว่าต้องมีช่องทางกระจายสินค้าให้สมาชิกกลุ่ม พอเริ่มขายได้แล้ว ก็เข้ามาช่วยดูเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมด้วย เพื่อให้ตัวผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์การใช้งาน แต่ยังคงเอกลักษณ์ของบ้านนางามอยู่ และเริ่มลงมือทำอย่างจริงจัง ได้หาเวลาไปเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องการขายทางออนไลน์เพิ่มเติม เพื่อนำความรู้ที่ได้มาปรับใช้กับเพจที่ทำอยู่ มาถึงตรงนี้ก็คิดว่าหยุดไม่ได้แล้ว แต่ต้องเดินหน้าต่อไป”

ก้าวต่อไปที่ “ต้นกล้าโบว์” กำลังดำเนินการอยู่ คือการยื่นขอจดสิทธิบัตรลวดลายใหม่ เพื่อนำมาใช้พัฒนาและต่อยอดกับงานจักสานที่ทำอยู่ให้มีความแปลกใหม่และทันสมัยมากขึ้น รวมไปถึงการหาแหล่งเงินทุนที่จะเป็นงบประมาณในการจัดซื้อครุภัณฑ์ที่จำเป็น และการส่งสินค้าเครื่องจักสานไปร่วมคัดสรรดาวจากกรมพัฒนาชุมชน รวมถึงการผลักดันให้เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพมาตรฐานของตัวผลิตภัณฑ์ เพื่อจะเป็นบันไดให้ก้าวต่อไปสำหรับการทำตลาดในวงกว้าง และตลาดต่างประเทศต่อไปในอนาคต รวมถึงตัว “ต้นกล้าโบว์” เอง ได้เริ่มเรียนรู้การผลิตงานจักสานและลงมือจักสานด้วยตนเอง ด้วยหวังว่าในอนาคตเมื่อมีความรู้ความสามารถมากขึ้น และมีความพร้อมเต็มที่แล้ว อาจจะเป็นโอกาสที่จะเข้ามาจับงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ นี้อย่างเต็มตัว

“การที่ได้มีโอกาสได้เข้ามาทำงานในฐานะของ ‘ต้นกล้าชุมชน’ ทำให้เรารู้จักการพัฒนาตนเองว่าจะอยู่อย่างไรให้มีรายได้ มีงานประจำที่สามารถบริหารด้วยตนเอง สร้างรายได้ให้กับตนเองและคนในชุมชนของตนเองได้ และยังสอนให้เรามีแนวคิด มีความรู้ เพื่อที่จะนำมาใช้พัฒนาธุรกิจให้อยู่รอด รวมกับการพยายามที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทั้งด้านเทคโนโลยีและสังคม เพื่อให้ทันกับการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน หากวันนี้ต้องเผชิญกับปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ ที่เกี่ยวกับงานจักสานในชุมชน ก็มั่นใจว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคนั้นให้ลุล่วงไปได้ ตามแนวทางของ Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด ซึ่งทุกคนที่ต้องการอยู่รอดในโลกยุคปัจจุบันที่การเปลี่ยนแปลงมีขึ้นตลอดเวลาและเป็นไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องพยายามที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และปรับตัวให้ได้ และต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น”

จากการที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นอกจากการพัฒนาตัวเองทั้ง Hard Skill และ Soft Skill เพื่อให้รับมือกับเหตุต่างๆ ที่ต้องเผชิญแล้ว อีกหนึ่งความจำเป็นสำหรับโลกยุคปัจจุบันคือการไม่หยุดที่จะเรียนรู้ เพื่อที่จะพัฒนาทักษะ ความรู้ความสามารถ ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อให้อยู่ได้และอยู่รอดได้ในสังคมปัจจุบัน

Share: