คอคเคลียร์ ประเทศไทย ย้ำความสำคัญของ ‘การตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็ก’ ควรเป็นสิทธิประโยชน์มาตรฐานที่เด็กไทยแรกเกิดทุกคนได้รับ

665
0
Share:

Cochlear Thailand (คอคเคลียร์ ประเทศไทย) ผู้นำด้านเทคโนโลยีประสาทหูเทียม ตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 3 ปี เพราะเชื่อว่าการได้ยินคือจุดเริ่มต้นของพัฒนาการและโอกาสในการใช้ชีวิต โดยมองว่าการเข้าถึงการคัดกรองการได้ยินเป็นสิทธิ์ที่เด็กไทยแรกเกิดทุกคนควรได้รับและควรจัดให้เป็นมาตรฐานเช่นเดียวกับการตรวจคัดกรองด้านอื่นๆ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงที่เด็กจะกลายเป็นผู้สูญเสียการได้ยิน ซึ่งอาจส่งผลต่อพัฒนาการและการใช้ชีวิตของเด็กในอนาคต

 

 

ในช่วงอายุ 0-3 ปีแรกของชีวิต คือช่วงที่เซลล์สมองของคนเราเรียนรู้และเติบโตได้ดีที่สุด ทักษะความสามารถ ตลอดจนอุปนิสัยส่วนใหญ่มักถูกกำหนดในช่วงวัยนี้ เด็กจะเริ่มต้นเรียนรู้ได้ส่วนหนึ่งต้องอาศัยการฟัง การฟังจึงเป็นสิ่งสำคัญมากต่อพัฒนาการในช่วงวัยนี้ หากเด็กมีความบกพร่องทางการได้ยินตั้งแต่แรกเกิด และไม่ได้รับการตรวจพบและรักษาได้ทันท่วงที จะเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการทางสังคม อารมณ์ และสติปัญญาของเด็กอย่างมาก เราจึงมักพบว่าเด็กที่มีภาวะการได้ยินบกพร่อง หรือสูญเสียการได้ยินตั้งแต่แรกเกิดนั้นมักจะมีพัฒนาการทางด้านต่าง ๆ ช้ากว่าปกติ เช่น พัฒนาการด้านการสื่อสาร พัฒนาการทางด้านภาษา ซึ่งอาจร้ายแรงจนถึงขั้นสื่อสารไม่ได้ หรือเป็นใบ้ได้ อันจะส่งผลเสียต่อเนื่องแก่พัฒนาการทางด้านอื่นๆ อย่างการเข้าสังคมและการดำเนินชีวิตของเด็กในอนาคต

จากสถิติข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประจำปี 2561 พบว่าในทารกแรกเกิดทุก 1,000 ราย มีทารก 2-3 รายที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน แต่โดยทั่วไปพ่อแม่มักไม่ค่อยตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นภาวะผิดปกติที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างการร้องไห้ การขับถ่าย หรือความผิดปกติของอวัยวะต่างๆที่เห็นได้จากภายนอก ซึ่งลักษณะภายนอกของหูเด็กเป็นปกตินั้น ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าการได้ยินเสียงของเด็กจะเป็นปกติ การให้ความสำคัญกับการตรวจคัดกรองการได้ยินในทารกแรกเกิดจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะยิ่งตรวจพบความผิดปกติทางการได้ยินและเข้ารับการรักษาได้เร็วเท่าไร โอกาสทางการได้ยินและและการฟื้นฟูให้เด็กกลับมาใช้ชีวิตและมีพัฒนาการเป็นปกติก็ยิ่งมีมากเท่านั้น ดังตัวอย่างกรณีน้องทิชาที่ได้เข้ารับการผ่าตัดในช่วงก่อนอายุ 3 ปี และปัจจุบันกำลังฝึกการสื่อสารและมีพัฒนาการทางด้านภาษาที่หลากหลายเหมือนเด็กทั่วไป

“ตอนที่น้องทิชาได้รับการวินิจฉัยว่าจัดอยู่ในกลุ่มเด็กที่สูญเสียการได้ยิน รู้สึกตกใจและกังวลมากว่าลูกสาวจะไม่สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป แต่พอได้รับข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ว่าการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมสามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้ จึงตัดสินใจให้น้องทิชาเข้ารับการรักษา ตอนแรกเราแค่หวังให้ลูกกลับมาได้ยินเสียงเหมือนเด็กคนอื่นๆ แต่ตอนนี้เราเห็นเขามีพัฒนาการทางการสื่อสาร ได้มีโอกาสฟังและเรียนรู้ในเรื่องที่เขาสนใจ ได้เห็นน้องมีความสุขกับการฟังเพลงและร้องเพลง มันคือสิ่งที่เกินความคาดหวังของเราจริงๆค่ะ” คุณมนทิชา แม่ของน้องทิชา หนึ่งในเด็กหญิงที่เข้ารับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมกับ Cochlear กล่าว

ปัจจุบัน การรักษาด้วยการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว เนื่องจากได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถรับรองได้ถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพหลังการผ่าตัด โดยทีมแพทย์จะมีการประเมินความเหมาะสม ทดสอบการได้ยิน ประเมินความพร้อมทางร่างกายของผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัด รวมถึงอาจมีการทดสอบด้านจิตวิทยาร่วมด้วย ตลอดจนการติดตามดูแลภายหลังจากการผ่าตัด เนื่องจากการได้ยินในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม จะมีความแตกต่างจากการได้ยินในคนปกติอยู่บ้าง และต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และฝึกฝนเพื่อให้เกิดความคุ้นชินกับอุปกรณ์ โดยจะมีการติดตามผลเป็นประจำทุกปี

การสูญเสียการได้ยินเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงและแก้ไขได้ทันหากตรวจพบได้เร็ว ดังนั้นการตรวจคัดกรองการได้ยินให้กับเด็กแรกเกิดและเด็กเล็กจึงเป็นเรื่องใกล้ตัวที่พ่อแม่ต้องใส่ใจและไม่ควรมองข้าม ในปัจจุบันประเทศไทยก็เริ่มมีการผลักดันเรื่องนี้มากขึ้น โดยเริ่มมีนโยบายให้เด็กแรกเกิดทุกคนต้องได้รับการตรวจคัดกรองการได้ยินจากสถานพยาบาลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย รวมถึงต้องได้รับสิทธิประโยชน์ในการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในกรณีตรวจพบการบกพร่องทางการได้ยินด้วย จึงเป็นสัญญาณที่ดีว่าในอนาคตอันใกล้ เด็กแรกเกิดทุกคนจะต้องได้รับการตรวจคัดกรองการได้ยินก่อนที่ออกจากโรงพยาบาล ส่วนผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเล็กก็สามารถพาบุตรหลานไปรับการตรวจคัดกรองการได้ยินได้ที่โรงพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามสิทธิการรักษาในระบบบัตรทอง สามารถเรียนรู้และติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับ Cochlear Thailand ได้ที่ Facebook : Cochlear Thailand หรือ www.cochlear.com/th

Share: