บลจ.วรรณ เตรียมเปิดขาย”กองทุนซื้อขายกรมธรรม์ประกันชีวิต”กองแรกของไทย

627
0
Share:

บลจ.วรรณ เฟ้นหาโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในระดับสูง 5-10% ต่อปีให้กับผู้ลงทุน เตรียมขายกองทุนเปิด วรรณ ไลฟ์ เซทเทิลเมนท์  ลงทุนซื้อขายกรมธรรม์ประกันชีวิตในสหรัฐฯ กองแรกของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 30 ต.ค-20 พ.ย. 63 นี้

นายพจน์  หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) วรรณ จำกัด (ONEAM) กล่าวว่า บริษัทเตรียมเปิดขายกองทุนเปิด วรรณ ไลฟ์ เซทเทิลเมนท์ ห้ามขายนักลงทุนรายย่อย (ONE-LS-UI) มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท อายุโครงการ 3 ปี 1 เดือน ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม – 20 พฤศจิกายน 2563 นี้ กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำ 500,000 บาท โดยกองทุนนี้จะเน้นการลงทุนจากการเข้าซื้อขายกรมธรรม์ประกันชีวิตในสหรัฐอเมริกา (Life Settlement) ที่ออกโดยบริษัทประกันชีวิตในสหรัฐฯผ่านกองทุนหลัก BlackOak Investors Limited Partnership – Unit Claa I ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นทางเลือกเพื่อลดความเสี่ยงให้กับผู้ลงทุนในภาวะที่เศรษฐกิจและตลาดหุ้นผันผวน รวมทั้งยังถือเป็นกองทุนแรกของประเทศไทยด้วย

กองทุน ONE-LS-UI ตั้งเป้าหมายสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนในระดับสูง 5-10% เมื่อเปรียบเทียบกับผลตอบแทนของกองทุนหลักตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2557 – เดือนกันยายน 2563 ที่ 160 % หรือเฉลี่ย 16% ต่อปี นับเป็นผลตอบแทนในระดับสูงเมื่อเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ในสหรัฐฯ เช่น พันธบัตร สัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์ ทองคำ และตลาดหุ้น S&P 500 ขณะที่ปัจจุบันตลาดซื้อขายกรมธรรม์ประกันชีวิตในสหรัฐฯมีมูลค่าตลาด 1.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำหรับผลการดำเนินธุรกิจของบริษัทภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุน ดีกว่าที่คาดไว้ โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันรายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นประมาณ 4-5 % เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่สินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) 9 เดือนแรก อยู่ที่ 1.41 แสนล้านบาท คาดว่าจนถึงสิ้นปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นได้อีกกว่า 1,000 ล้านบาท   จากการออกกองทุนประเภททริกเกอร์ฟันด์ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่เน้นการเปิดขายกองทุนใหม่ เพราะมีกองทุนภายใต้การบริหารที่ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าพอสมควรแล้ว แต่จะเน้นการให้คำปรึกษาในลักษณะการจัดพอร์ตเชิงรุกมากขึ้น เน้นให้น้ำหนักการลงทุนในกองทุน ONE –UGG ONE-DISCOVERY ซึ่งบลจ.เป็นรายแรกๆที่แนะนำให้ปรับพอร์ตไปลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี นวัตกรรม และธุรกิจเมกะเทรนด์ ก่อนจะเกิดวิกฤตโควิด-19 นอกจากนี้ยังเน้นการลงทุนในหุ้นต่างประเทศอื่นๆ เช่น กองทุน ONE –ALLCHINA ที่ลงทุนหุ้นจีน เพราะมองว่าตลาดหุ้นจีนจะมีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศอื่น

บลจ.วรรณได้ปรับกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของยุค New normal และเพิ่มขีดความสามารถให้กับธุรกิจ โดยมีแผนจะขยายช่องทางการขาย และเปิดตัวบริษัทในเครือใหม่ เพื่อดำเนินธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขาย เป็นอีกช่องทางในการสร้างรายได้ ซึ่งบลจ.วรรณ จะถือหุ้น 100 % คาดว่าจะสามารถเปิดตัวอย่างเป็นทางการได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564

“เราไม่ได้มีธนาคารเป็นบริษัทแม่ ดังนั้นเรามีการปรับตัวใหม่ๆอยู่เสมอเพื่อสร้างรายได้ และเพิ่มช่องทางการขายให้กับผลิตภัณฑ์ของเรา รวมถึงของบริษัทอื่น ทั้งกองทุน การเงิน ประกันภัย”

สำหรับธุรกิจกองทุน อสังหาริมทรัพย์ และ ทรัสต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาแปลงสภาพของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (Property fund) ในบางกองทุน เพื่อเป็นกองรีท (REIT) ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการลงทุนในสินทรัพย์เพิ่มเติม และทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ปัจจุบันบริษัทได้มีการเจรจาเพิ่มเติมกับสปอนเซอร์อีก 1-2 แห่งเพื่อหาโอกาสเปิดกองทุนใหม่ด้วยเช่นกัน โดยทางบริษัทจะดูแลทั้งสินทรัพย์ต่อไปในบทบาทของ Trustee หรือ REIT Manager ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการจัดตั้ง Private Equity Trust จำนวน 2-3 กองในฐานะ Trustee ให้แก่นักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนรายใหญ่ เพื่อลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตและมีผลตอบแทนที่ดี

นายพจน์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยยังขาดปัจจัยบวก โดยมีแนวรับที่ 1,200 จุด และมีแนวรับถัดไปที่1,145- 1,150 จุด อย่างไรก็ตามในส่วนของบลจ.วรรณ หากดัชนีปรับตัวลดลงถึงระดับ 1,180 จุด จะเข้าทยอยเก็บหุ้น จากปัจจุบันที่ถือเงินสดประมาณ 10% เพื่อรอจังหวะเข้าซื้อ

ด้านนายมณฑล จุนชยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ. วรรณ มองว่าเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะถดถอยจากการระบาดของโควิด-19  การฟื้นตัวมีความไม่แน่นอน โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ ความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีน ที่คาดว่าจะรู้ผลปลายเดือนต.ค.นี้ ,การเลือกตั้งปธน.สหรัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจและการเงินโลก ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ คาดว่าปีนี้ GDP จะอยู่ที่ประมาณ -7% ถึง -8% ส่วนปีหน้าจะเริ่มขยายตัวดีขึ้นจากฐานที่ต่ำในปีนี้ และคาดอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำเพราะถูกกดดันจากราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ดัชนีตลาดหุ้นสิ้นปีนี้มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ ที่ระดับ 1,380 จุด จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐที่ได้ผลตอบรับดีและไม่มีการระบาดระลอกสอง ส่วนปีหน้าตั้งเป้าดัชนีที่ 1,440 จุด ภายใต้สมมุติฐานกำลังการผลิตทั่วโลกและกิจกรรมทางการค้าเริ่มฟื้นตัว

“ในช่วงที่เหลือของปีนี้คาดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยน่าจะอยู่แถวๆ 1,200 จุด บวกลบ 20 จุด เพราะการชุมนุมทางการเมืองยังกดดัน และตลาดยังรอความชัดเจนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ รอการค้นพบวัคซีน แม้จะเริ่มทดลองกับคนในเฟส 3 แล้วก็ตาม ส่วนปีหน้าคาด EPS ที่ 76 บาท/หุ้น เป้าดัชชนีที่ 1,400 -1,500 จุด เพราะยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยต้องติดตามดูปัจจัยทางการเมือง แต่เชื่อว่าจะดีขึ้นหากทำให้มีทางออกระดับหนึ่งทำให้เกิดความพอใจบ้าง”

 

 

 

Share: