บำรุงราษฎร์ชวนคนดังร่วมแชร์การตรวจรหัสพันธุกรรม เทรนด์สุขภาพเชิงป้องกัน

474
0
Share:

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มุ่งยกระดับสู่โรงพยาบาลในการรักษาขั้นจตุตถภูมิ (Quaternary Care) ในการให้บริบาลทางการแพทย์ที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง เปิดตัว “ศูนย์พันธุศาสตร์เชิงป้องกันและสุขภาพครอบครัว” ซึ่งการตรวจยีนของบำรุงราษฎร์จะมุ่งเน้นการป้องกันโรคเชิงรุก เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม อาทิ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคทางพันธุกรรมอื่น ๆ รวมถึงการตรวจยีนแพ้ยา และวางแผนการมีบุตร เพื่อค้นหาความเสี่ยงในการเกิดโรคในอนาคต รวมถึงวางแผนการดูแลรักษาแบบเฉพาะบุคคล เพื่อผลลัพธ์ของการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ภายในงาน คุณบี้ – ธรรศภาคย์ ชี ร่วมกับคุณตั๊ก – มยุรา เศวตศิลา ได้ร่วมแชร์ประสบการณ์การตรวจพันธุกรรมที่บำรุงราษฎร์ ถึงเหตุผลในการตัดสินใจและประโยชน์ที่ได้รับจากการตรวจพันธุกรรม ณ ห้องโถงรับรอง ชั้น G อาคารโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

ศูนย์พันธุศาสตร์เชิงป้องกันและสุขภาพครอบครัว จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการอย่างครอบคลุมโดยทีมแพทย์สหสาขาวิชาชีพ ตั้งแต่การให้คำปรึกษาก่อนตรวจ การตรวจยีน การตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการที่ได้การรับรองมาตรฐานเฉพาะด้าน การแปลผล ซึ่งต้องใช้แพทย์ผู้ชำนาญการทางพันธุศาสตร์ที่มีประสบการณ์เป็นผู้แปลผล และหากพบพันธุกรรมที่มีความเสี่ยง ก็สามารถส่งต่อแพทย์เฉพาะทางเพื่อให้คำปรึกษาหรือวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งบำรุงราษฎร์ได้ใช้เทคโนโลยี Next Generation Sequencing เครื่องตรวจการกลายพันธุ์ของยีน เข้ามาใช้ในห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลฯ อีกด้วย

ปัจจุบัน ศูนย์พันธุศาสตร์เชิงป้องกันและสุขภาพครอบครัว ให้บริการตรวจพันธุกรรมในเชิงป้องกันเพื่อค้นหาความเสี่ยงก่อนเกิดโรค ครอบคลุม 4 กลุ่มหลัก ได้แก่

  1. โรคมะเร็ง ซึ่งสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ อาทิ มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งโพรงมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งไทรอยด์ เป็นต้น
  2. โรคหัวใจ แบ่งเป็น3 กลุ่ม คือ กลุ่มโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดใหญ่โป่งพองและปริแตก และโรคหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวาย ซี่งล้วนมีโอกาสเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน
  3. เพื่อวางแผนการมีบุตร เช่น โรคจากยีนด้อยโครโมโซมเอกซ์ ดาวน์ซินโดรม โรคซิสติก ไฟโบรซิส หูหนวก โรคเลือด เช่น ธาลัสซีเมีย โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือโรคและภาวะทางพันธุกรรมอื่นๆ
  4. ป้องกันการแพ้ยา เพื่อนำไปทำนายโอกาสที่ผู้ป่วยจะแพ้ยา หรือการตอบสนองต่อการใช้ยา โดยจะครอบคลุมยาที่ใช้กันโดยทั่วไป เช่น ยาเบาหวาน ยาหัวใจ ยาความดัน ยานอนหลับ ยาอัลไซเมอร์ ยาจิตเวช ยาลดกรดในกระเพาะ เป็นต้น

คุณบี้ – ธรรศภาคย์ ชี นักร้อง-นักแสดงที่มีผลงานทางการแสดงทั้งในประเทศไทยและประเทศจีน ร่วมแชร์ประสบการณ์การตรวจพันธุกรรมที่บำรุงราษฎร์ ว่าเนื่องจากครอบครัวผมมีประวัติป่วยเป็นโรคมะเร็ง ผมจึงตัดสินใจตรวจพันธุกรรมเพื่อประเมินความเสี่ยงให้ทราบก่อนดีกว่าครับ เพื่อคุณหมอจะได้ให้คำแนะนำที่ถูกต้อง รวมถึงวิธีการป้องกันโรค ดีกว่าเป็นแล้วค่อยมารักษาภายหลัง นอกจากนี้ ผมยังพาน้องเป่าเปามาตรวจยีนแพ้ยาด้วย เพราะทราบมาว่าที่บำรุงราษฎร์ มีบริการตรวจพันธุกรรมที่ครอบคลุมทุกขั้นตอน ซึ่งคุณหมอให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์มาก และไม่อยากมาลุ้นว่าลูกเราจะแพ้ยาอะไรมั้ย ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้เรารู้ได้ล่วงหน้า ซึ่งก่อนหน้านี้จะรู้ก็ต่อเมื่อต้องกินยานั้นไปแล้ว ซึ่งยาบางตัวถ้าแพ้ก็อาจเกิดอาการรุนแรงได้ และอาการแพ้ยาของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน กรณีของครอบครัวผมขอไม่เสี่ยงครับ ที่สำคัญการตรวจยีนตรวจแค่ครั้งเดียวใช้ได้ตลอดชีวิต เพราะผลยีนจะไม่เปลี่ยนแปลงครับ

ในขณะที่คุณตั๊ก – มยุรา เศวตศิลา ให้มุมมองของการตรวจยีนแพ้ยาว่า พอเราอายุมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนก็ต้องกินยาหลายตัวมากขึ้น คุณหมอที่ตรวจประจำให้คำแนะนำว่า ยาที่เรากินบางตัวอาจทำปฏิกิริยาร่วมกับยาบางตัวได้ และยาบางชนิดอาจเกิดปฏิกิริยาร่วมกับการกินสมุนไพร รวมถึงอาหารและเครื่องดื่มที่เรากินด้วย ซึ่งหากเรามียีนปกติก็ไม่ค่อยส่งผลกระทบมากนัก แต่ถ้าเรามียีนที่ผิดปกติ ยาที่เรากินเข้าไปอาจไม่ได้ผล หรือได้ผลการรักษาที่ไม่ดี ซึ่งการตรวจยีนแพ้ยา ถือเป็นทางออกที่ดีและเหมาะสม เพราะคุณหมอจะได้วางแผนการรักษาของเราให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และหากในอนาคต  มีการศึกษาค้นพบยีนตัวใหม่ ๆ และผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อกลุ่มโรคหรือยาที่แพ้เพิ่มเติม ทางโรงพยาบาลฯ จะมีการแจ้งผลให้ผู้ป่วยทราบอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

นพ. อิศร สุขวนิช ผู้อำนวยการศูนย์พันธุศาสตร์เชิงป้องกันและสุขภาพครอบครัว โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวปิดท้ายว่า “การตรวจยีนของบำรุงราษฎร์ มีด้วยกัน 2 วิธีง่ายๆ แต่ให้ผลความแม่นยำสูง คือ 1. การเจาะเลือด และ 2. การเก็บน้ำลาย ทั้งนี้โรงพยาบาลฯ จะทำการตรวจ การประเมินผล พร้อมวางแผนการรักษา ซึ่งเป็นการวิเคราะห์แบบองค์รวม ที่สำคัญ บำรุงราษฎร์ยังมีระบบบริหารจัดการข้อมูลสุขภาพผู้ป่วย Trakcare ที่เชื่อมโยงข้อมูล Electronic Medical Record (EMR) กันทั้งระบบภายในโรงพยาบาล กรณีที่แพทย์จะมีการสั่งยาให้ผู้ป่วย ระบบก็จะช่วยป้องกันไม่ให้แพทย์สั่งจ่ายยาที่ผู้ป่วยมีอาการแพ้ ระบบจะมีการแจ้งเตือนขึ้นบนหน้าจอทันที รวมถึงมีการส่งมอบบัตรผลการตรวจยีนสำหรับพกพา สำหรับใช้ยื่นให้กับแพทย์ในโรงพยาบาลอื่น ๆ ที่เข้ารับการรักษา ทั้งนี้ บำรุงราษฎร์เราคำนึงถึงคุณภาพการรักษาที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากลและความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด”

 

Share: