วัดชีพจรอสังหาฯ อาเซียน คนพร้อมมีบ้านมากแค่ไหนในยุคโควิด

705
0
Share:

แม้ผู้บริโภคจะเรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตในยุคโควิด-19 แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลจากการแพร่ระบาดฯ ที่ยาวนานส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ กระทบต่อภาคธุรกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคอย่างหนักหน่วง ข้อมูลจากรายงาน “Southeast Asia Rising from the Pandemic” ของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เผยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ในปี 2564 ประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 4.7 ล้านคนอยู่ในระดับความยากจนขั้นรุนแรง นอกจากนี้ยังคาดว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในปี 2565 จะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ลดลง 0.8% เช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่าปีนี้ยังคงต้องจับตามองสภาพคล่องและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอย่างใกล้ชิดต่อไป

ตลาดอสังหาริมทรัพย์นั้นได้รับผลกระทบโดยตรงในช่วงแรก ทำให้ผู้ประกอบการต่างงัดกลยุทธ์มาใช้เพื่อช่วยขับเคลื่อนการเติบโตในตลาดและกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคที่ต้องการมีบ้านอย่างต่อเนื่อง ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย เผยข้อมูลจากแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัยในไทย DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study และแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคในอาเซียนรอบล่าสุด (ประกอบด้วยประเทศสิงคโปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และเวียดนาม) จากเว็บไซต์ในเครือ PropertyGuru Group (พร็อพเพอร์ตี้กูรู กรุ๊ป) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นด้านอสังหาริมทรัพย์โดยรวมของทั้งภูมิภาคมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคสามารถปรับตัวให้พร้อมอยู่ร่วมกับโควิด-19 เพื่อดำเนินชีวิตต่อไปให้เหมือนปกติได้และมีความมั่นใจในการซื้อที่อยู่อาศัยอีกครั้ง โดยคะแนนดัชนีความเชื่อมั่นของชาวอินโดนีเซียอยู่ที่ 57% ซึ่งสูงที่สุดในอาเซียน ตามมาด้วยของชาวสิงคโปร์อยู่ที่ 51% ชาวเวียดนามอยู่ที่ 47% ด้านชาวมาเลเซียอยู่ที่ 46% ขณะที่ชาวไทยอยู่ที่ 45% ซึ่งต่ำกว่าทุกประเทศในตลาดอาเซียน

ขณะเดียวกันอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นทรัพย์สินที่มีความผันผวนต่ำเมื่อเทียบกับการลงทุนแบบอื่น แม้ผู้บริโภคไม่ได้อยู่อาศัยเองแต่มองถึงโอกาสต่อยอดลงทุนในระยะยาว จึงเป็นอีกปัจจัยที่ส่งเสริมให้ดัชนีความเชื่อมั่นที่อยู่อาศัยรอบล่าสุดนี้เติบโตเช่นกัน เห็นได้ชัดจากการที่ 3 ใน 4 ของผู้บริโภคในประเทศมาเลเซีย (77%), อินโดนีเซีย (77%), เวียดนาม (77%) และไทย (78%) เผยว่า ตั้งใจจะซื้อบ้านใหม่เพิ่มโดยที่ยังเก็บบ้านเดิมเอาไว้ ขณะที่สิงคโปร์มีเพียงแค่ 46% เนื่องจากมากกว่าครึ่งวางแผนจะขายบ้านเดิมก่อนที่จะซื้อบ้านใหม่ โดยเหตุผลสำคัญในการซื้อบ้านเพิ่มนั้นผู้บริโภคชาวมาเลเซีย (53%) ชาวอินโดนีเซีย (66%) และชาวสิงคโปร์ (63%) มองที่การลงทุนเป็นหลัก ด้านชาวเวียดนามส่วนใหญ่ต้องการซื้อให้บุตรหลาน (54%) ขณะที่เหตุผลชาวไทยซื้อบ้านใหม่เพื่อตั้งใจเก็บไว้อยู่ตอนเกษียณ (31%)

 

 

เมื่อโควิดตั้งอยู่และยังไม่ดับไป ส่งผลกระทบอย่างไรต่อคนหาบ้านอาเซียน
ข้อมูลจากแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัยล่าสุดใน 5 ตลาดหลักของอาเซียน เผยให้เห็นมุมมองและความต้องการที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคหลังเผชิญการแพร่ระบาดฯ มาอย่างยาวนาน ตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยจึงไม่ใช่แค่ราคาอีกต่อไป แต่คนหาบ้านยังมองเรื่องสุขภาพและความสะดวกในการใช้ชีวิตเป็นหลักด้วย
• หลังจากปรับตัวอยู่ร่วมกับการแพร่ระบาดฯ ที่ยาวนาน ชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่เผยว่าเทรนด์ที่อยู่อาศัยที่ต้องการในอนาคตแม้จะไม่มีการแพร่ระบาดฯ แล้วคือ การมีบ้าน/คอนโดฯ ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น (42%) เนื่องจากต้องการพื้นที่ใช้สอยที่รองรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่บ้านของสมาชิกในครอบครัว และมากกว่าครึ่งของชาวสิงคโปร์ (55%) คาดว่าราคาอสังหาฯ จะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นหลังวิกฤติโควิด-19 สิ้นสุดลง ซึ่งเกือบ 3 ใน 4 (73%) ของชาวสิงคโปร์เผยว่าโครงการที่เดินทางสะดวกด้วยระบบขนส่งสาธารณะเป็นคุณสมบัติที่อยู่อาศัยที่สำคัญและจำเป็นต้องมีทั้งในปัจจุบันและยุคหลังโควิด-19 อย่างไรก็ดี ชาวสิงคโปร์นั้นมีมุมมองด้านความต้องการดูแลสุขภาพในอนาคตที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ในอาเซียน โดยส่วนใหญ่ (43%) มองว่าโครงการที่อยู่อาศัยที่ใกล้กับสถานพยาบาล/ศูนย์ดูแลสุขภาพไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัย เนื่องจากทุกพื้นที่ในประเทศสามารถเข้าถึงบริการดังกล่าวได้อย่างเท่าเทียมกันอยู่แล้ว
• ขณะที่เทรนด์ที่อยู่อาศัยที่ชาวมาเลเซียมองว่าตอบโจทย์การใช้ชีวิตในอนาคตมากที่สุดคือ บ้าน/คอนโดฯ ที่ใกล้ชิดธรรมชาติมากถึง 53% สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการใช้ชีวิตท่ามกลางพื้นที่สีเขียวทดแทนที่ไม่ได้ไปแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในยุคโควิด ขณะที่ 2 ใน 3 ของชาวมาเลเซีย (67%) เผยว่า ที่อยู่อาศัยที่ตั้งอยู่ใกล้โรงพยาบาลเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดเมื่อวางแผนซื้อบ้านเพื่อรองรับการดูแลสุขภาพในอนาคต นอกจากนี้ 69% เผยว่าบ้าน/คอนโดฯ ที่ตั้งอยู่ใกล้สิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครันถือเป็นคุณสมบัติหลักที่ที่อยู่อาศัยต้องมีทั้งในปัจจุบันและเมื่อการแพร่ระบาดฯ สิ้นสุด โดยมากกว่าครึ่งของชาวมาเลเซีย (57%) คาดหวังว่าหากการแพร่ระบาดฯ จบลง ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะหันมาแข่งจัดโปรโมชั่นที่คุ้มค่าเพื่อเร่งระบายสินค้าคงค้างในตลาด ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ที่ต้องการมีบ้าน/คอนโดฯ เนื่องจากชาวมาเลเซียส่วนใหญ่ (47%) มองว่าอุปสรรคสำคัญที่สุดในการยื่นขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยในตอนนี้มาจากหน้าที่การงานและรายได้ที่ไม่มั่นคง
• ด้านเทรนด์ความต้องการที่อยู่อาศัยของชาวอินโดนีเซียนั้น เกือบครึ่ง (47%) ต้องการอาศัยในทำเลที่ไม่แออัดหรือย่านชานเมือง เนื่องจากยังมีความกังวลเรื่องสุขอนามัยและการรักษาระยะห่างทางสังคม ครึ่งหนึ่งของชาวอินโดนีเซีย (50%) คาดว่าเมื่อการแพร่ระบาดฯ สิ้นสุดลงจะส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกของตลาดที่ฟื้นตัว สำหรับคุณสมบัติสำคัญอันดับต้นๆ ที่บ้าน/คอนโดฯ ยุคโควิดต้องมีในมุมมองของชาวอินโดนีเซียนั้นจะให้ความสำคัญใน 2 ปัจจัยเท่ากัน คือ โครงการที่ใกล้ชิดธรรมชาติ (60%) และอยู่ในทำเลที่เดินทางสะดวกด้วยระบบขนส่งสาธารณะ (60%) อย่างไรก็ดี ปัจจัยหลักที่ชาวอินโดนีเซียใช้พิจารณาเมื่อยื่นขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยมาจากอัตราการผ่อนชำระถึง 78% เนื่องจากหลังเผชิญวิกฤติการแพร่ระบาดฯ ที่ยาวนาน ส่งผลกระทบต่ออาชีพและรายได้ที่ไม่แน่นอนซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดเมื่อขอสินเชื่อบ้าน (57%)
• 3 ใน 5 ของชาวเวียดนาม (61%) เผยว่าเทรนด์ที่อยู่อาศัยที่มองหาในอนาคตคือ มีบ้าน/คอนโดฯ ที่ใกล้ชิดธรรมชาติ/มีพื้นที่ทำสวน สอดคล้องกับแผนดูแลสุขภาพที่ชาวเวียดนามส่วนใหญ่ (48%) มองว่าที่อยู่อาศัยในอนาคตต้องตั้งอยู่ใกล้โรงพยาบาล เพื่อรองรับการดูแลสุขภาพยามเจ็บป่วย สะท้อนให้เห็นถึงการเตรียมพร้อมเพื่อสร้างสุขภาพที่ดีทั้งจากภายนอกและภายใน นอกจากนี้ ชาวเวียดนามให้ความสำคัญกับสมาชิกในครอบครัวมาเป็นอันดับต้นๆ โดยคุณสมบัติสำคัญของที่อยู่อาศัยในฝันอันดับแรกคือ ต้องมีสนามเด็กเล่นหรือแหล่งเรียนรู้รองรับการใช้ชีวิตของบุตรหลาน (58%) นอกจากนี้ชาวเวียดนาม 48% คาดว่าผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะเปิดตัวโปรโมชั่นมากขึ้นเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยที่คงค้างในยุคหลังโควิด อย่างไรก็ตาม เกือบ 4 ใน 5 (79%) มองว่า ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ควรกังวลและให้ความสำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์อุปทานล้นตลาดด้วย หลังจากมีบทเรียนจากภาคอสังหาฯ ในจีนที่เผชิญวิกฤตขาดสภาพคล่อง
ชาวไทยให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยเกือบ 9 ใน 10 (88%) วางแผนเลือกซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัยที่อยู่ใกล้โรงพยาบาล ซึ่งถือว่าสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน โดย 66% มองว่าคุณสมบัติสำคัญที่บ้าน/คอนโดฯ ยุคใหม่จำเป็นต้องมีคือ การออกแบบให้อากาศถ่ายเทสะดวกและมีแสงธรรมชาติเพียงพอ นอกจากนี้ มากกว่า 3 ใน 4 ของชาวไทย (77%) เผยว่าอัตราดอกเบี้ยเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่พิจารณาเมื่อต้องยื่นขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดย 59% เผยว่าความไม่มั่นคงของหน้าที่การงานและความผันผวนของรายได้ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ขณะที่ชาวไทยถึง 95% มองว่า ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ควรกังวลกับภาวะอุปทานล้นตลาดในปัจจุบัน เพื่อป้องกันวิกฤติฟองสบู่ในตลาดอสังหาฯ เนื่องจากกำลังซื้อผู้บริโภคจะยังไม่ฟื้นตัวในเร็วๆ นี้ รวมทั้งมาตรการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารที่มีความเข้มงวดขึ้น อาจทำให้ดีมานด์การซื้อไม่เพียงพอจะดูดซับอุปทานคงค้างได้ทันท่วงที อย่างไรก็ดี มีเพียงผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียลชาวไทยเท่านั้นที่เผยว่ายังไม่มีแผนย้ายออกจากบ้านพ่อแม่ภายใน 1 ปีข้างหน้า (54%) เนื่องจากต้องการอยู่ดูแลพ่อแม่ และยังไม่มีเงินเก็บมากพอที่จะซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัยของตัวเอง ต่างจากกลุ่มมิลเลนเนียลชาวอินโดนีเซีย, ชาวสิงคโปร์ และชาวเวียดนามที่มากกว่าครึ่งเผยว่าตั้งใจจะย้ายออกภายในปีหน้า (85%, 76% และ 51% ตามลำดับ) ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตในตลาดอสังหาฯ

Share: