องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก จัดเสวนาออนไลน์ เผยความจริงภัยร้ายจากเมนูเนื้อสัตว์

754
0
Share:

สังคมไทยในปัจจุบันยังไม่ตระหนักรู้ว่าฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่สร้างปัญหาสุขภาพมนุษย์ อีกทั้งกระแสการบริโภคทำให้เกิดการเร่งผลิตเนื้อสัตว์เพื่อให้ทันต่อความต้องการ ทำให้ชีวิตสัตว์นับหลายพันล้านตัวต้องถูกเลี้ยงมาอย่างผิดวิธี ขาดความใส่ใจในสวัสดิภาพ สัตว์เหล่านี้ยังต้องเผชิญความเครียดจากการถูกตัดตอนอวัยวะ และต้องอยู่ในกรงที่คับแคบมาทั้งชีวิต ฯลฯ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก 

 

World Animal Protection จึงเปิดประเด็นเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “ความจริงที่คุณไม่เคยรู้ ภัยร้ายจากเมนูเนื้อสัตว์ เพื่อเร่งสร้างเข้าใจถึงความเชื่อมโยงของฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ในมิติต่าง ๆ โดยมุ่งให้สังคมเกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญของภัยด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นจากการบริโภคเนื้อสัตว์ในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนสร้างองค์ความรู้ในการเลือกบริโภคอาหารที่ปลอดภัยพร้อมร่วมเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง

โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวเปิดประเด็นว่า ปัจจุบันมนุษย์มีปริมาณความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่สูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีข้อมูลเบื้องลึกความเชื่อมโยงของฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรมต่อวิกฤตสุขภาพมนุษย์ที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผย ดังนั้นทางองค์กรฯ จึงได้จัดทำรายงานฉบับล่าสุด“ภัยคุกคามสุขภาพที่ซ่อนไว้ในระบบปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม” ที่นำเสนอผลกระทบจากระบบฟาร์มอุตสาหกรรมต่อสุขภาพคนทั่วโลก 5 ประการ ได้แก่ 1. ความไม่มั่นคงทางอาหาร 2. การเกิดเชื้อโรคจากสัตว์สู่คน 3. ความไม่ปลอดภัยทางอาหารและการปนเปื้อนสารต่าง ๆ ที่เป็นพิษต่อร่างกาย 4. ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมที่ฟาร์มอุตสาหกรรมได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 5. ภัยคุกคามต่อการทำงาน

สำหรับประเทศไทย เรากำลังอยู่ท่ามกลางวิกฤตความเสี่ยงของฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรมที่ยอดผลิตและส่งออกเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ด้วยวิธีการเลี้ยงในปัจจุบันที่เน้นปริมาณการผลิตที่มากและเร็ว ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงของการเกิดโรคติดต่อเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคจากสัตว์สู่สัตว์เอง อย่างโรคอหิวาต์สุกรแอฟริกัน (African Swine Fever; ASF) ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญล่าสุด และทำให้หมูตายไป 1 ใน 4 ทั่วโลก รวมถึงไข้หวัดนก ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อหลายปีที่ผ่านมา หากการเลี้ยงแบบนี้ยังคงมีอยู่ จะยังก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเกิดของโรคต่าง ๆ ที่มีความรุนแรงขึ้น และอาจจะป้องกันได้ยากมากยิ่งขึ้น

ด้าน ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์เฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา ได้อธิบายว่า ข้อมูลเรื่องยาปฏิชีวนะ รวมถึงการดื้อยา มีการรวบรวมและศึกษาวิจัยต่าง ๆ มากมาย ซึ่งการดื้อยาเป็นภัยเงียบที่คนมักจะมองข้าม ปัจจุบันมีคนเสียชีวิตทั่วโลกไปแล้วหลายล้านคน และล่าสุดได้พบเชื้อใหม่ ๆ ที่เกิดจากการดื้อยาที่มาจากฟาร์มหมูอย่างต่อเนื่อง โดยปัญหาอยู่ที่ระบบกลไกตลาดที่สร้างแรงกดดัน ความเชื่อ และความเข้าใจผิดของเกษตรกร จึงมีโอกาสเสี่ยงที่สารพิษจะลงสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำให้ประชาชนเข้าใจได้อย่างแท้จริง ดังนั้นในฐานะที่เรามองเห็นภาพใหญ่ ความตื่นตัวของผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องในระบบต้องตระหนักเรื่องนี้อย่างจริงจัง และสุดท้ายผู้บริโภค ถ้าเขายังไม่มีความรู้ รัฐต้องมีหน้าที่ให้ความรู้แก่ผู้บริโภคและเกษตรกรด้วย

สุพจน์ สิงโตศรี ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูหลุม เผยมุมมองที่น่าสนใจในฐานะเกษตกรผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงหมูหลุม โดยชี้ให้เห็นโทษของการเลี้ยงหมูจำนวนมากแบบเดิมจะสร้างความแออัดและส่งผลกระทบต่อสัตว์อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคระบบทางเดินหายใจทั้งตัวผู้เลี้ยงและหมูในคอก รวมถึงโรคที่เกียวกับระบบทางเดินอาหารของหมู ดังนั้นการเลี้ยงหมูหลุม จะเข้ามาแก้ไขปัญหาในเรื่องของโรคทางเดินหายใจ เพราะเมื่อเลี้ยงแบบไม่แออัดก็จะไม่มีกลิ่น หมูก็จะไม่ได้สูดดม ไม่เกิดแก๊ส ทำให้หมูมีสุขภาพที่แข็งแรง ไม่ต้องพึ่งยาปฏิชีวนะ ประหยัดเวลา เป็นผลให้ได้คุณภาพเนื้อที่ดี ปลอดภัย ทำให้ขายได้ราคาดีอีกด้วย

ทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เล่าเสริมต่อว่า หากเราค้นหา “เนื้อสดคุณภาพ” จากผู้ผลิตรายเล็กรายย่อย ผ่านช่องทางออนไลน์ พบว่าเริ่มมีจำหน่ายหลายที่ แต่อาจจะมีปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีแรงสนับสนุนจากภาครัฐหรือการส่งเสริมด้านนี้ให้เป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น ถ้ามีประชาชนเรียกร้องมากขึ้น เราอาจจะมีโอกาสได้เห็นการผลิตเนื้อสัตว์คุณภาพจากผู้ผลิตรายเล็กรายย่อย ให้ผู้บริโภคได้สามารถเข้าถึงเนื้อหมูที่ดีและปลอดภัยต่อชีวิต

โดยรายงาน “ภัยคุกคามสุขภาพที่ซ่อนไว้ในระบบปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม” ระบุว่า ในรอบ 30 ปีมานี้ คนทั่วโลกกินเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมีข้อสังเกตว่าส่วนใหญ่แล้วคนที่รับประทานเนื้อสัตว์มากที่สุดจะอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงอย่าง สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียและอิสาราเอล รวมทั้งประเทศไทย จากที่เคยกินพืชผักก็เปลี่ยนมากินเนื้อสัตว์กันเพิ่มขึ้น ทำให้เกิด “ฟาร์มอุตสาหกรรม” ซึ่งส่งผลกระทบต่อโลก และคุณภาพชีวิตของทุกคน อีกทั้งฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่ ทำให้เกิดการตัดป่าเพื่อปลูกพืชอาหารสัตว์ เป็นการทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 เป็นต้นมา สัตว์ประเภทต่าง ๆ ทั่วโลกลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง สัตว์กว่าหนึ่งล้านสายพันธุ์เสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ การผลิตเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรมยังเป็นแหล่งปล่อยก๊าซที่เป็นองค์ประกอบหลักของก๊าซเรือนกระจก อันเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งก่อมลพิษทางน้ำ นอกจากนี้ผู้ผลิตอาหารต่างพยายามลดต้นทุนเนื้อสัตว์ให้ต่ำเพื่อทำกำไร โดยการทำฟาร์มใหญ่ ให้สัตว์อยู่กันอย่างแออัด ใช้สัตว์สายพันธุ์โตไว แต่ต้านทานโรคต่ำ เมื่อสัตว์อ่อนแอก็ต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันสัตว์เจ็บป่วย การใช้ยาปฏิชีวนะแบบรวมหมู่อย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เกิด“เชื้อดื้อยา” ปัจจุบัน ฟาร์มสัตว์ถือเป็นแหล่งแพร่เชื้อดื้อยาที่สำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและระบบสาธารณสุขไปทั่วโลก

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก จัดเสวนาในครั้งนี้เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนผ่านระบบอาหารจากระบบปัจจุบันนำไปสู่ระบบที่ยั่งยืนมากขึ้น เช่น การยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ มาตรฐานและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างที่หลายประเทศเริ่มทำ องค์กรฯ เชื่อว่าแนวทางนี้จะสามารถยุติปัญหาเชื้อดื้อยาได้ ภาครัฐควรหันมาลงทุนและสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านระบบอาหารที่ยั่งยืนต่อคน ต่อสัตว์ ต่อโลกนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบที่มีสวัสดิภาพดีอย่างเรื่องของการเลี้ยงไก่ไข่ เรื่องของหมูหลุม รวมถึงโปรตีนทางเลือกอื่น ๆ ซึ่งสามารถตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหารได้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่สำคัญของรัฐในการสนับสนุนวิธีการผลิตอื่น ๆ รวมถึงผู้ผลิตรายใหญ่ในการสร้างทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค

Share: