เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง ปรับกลยุทธ์บริการที่ปรึกษาบริหารทรัพย์สินครอบครัวรับมือโควิด-19 

379
0
Share:

KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง) เดินหน้าตอกย้ำตำแหน่งผู้นำบริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัวเจ้าแรกในไทย ชู 3 แนวทางหลัก การบริหารจัดการความเสี่ยงของธุรกิจและทรัพย์สิน การจัดการระบบกงสีอย่างยั่งยืนและการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ เผยปัจจุบันให้บริการลูกค้าประมาณ 3,600 ราย ครอบคลุมทรัพย์สินครอบครัวกว่า 120,000 ล้านบาท* ตั้งเป้าให้บริการแก่ลูกค้าอย่างน้อย 50% ของพอร์ต** ภายใน 3 ปี พร้อมผนึกองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญจากพันธมิตร Lombard Odier เพื่อส่งมอบบริการที่ปรึกษาครบวงจร ตั้งแต่การให้ความรู้ วางแผน และสนับสนุนการดำเนินการตามแผน  

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยถือเป็นผู้ให้บริการไพรเวทแบงก์รายแรกในไทยที่ส่งมอบ “บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัว (Family Wealth Planning Service)” และได้รับความสนใจจากลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีปัจจัยเร่งจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และความเสี่ยงด้านสุขภาพจากโรคระบาด ทำให้ครอบครัวผู้มีสินทรัพย์สูงเริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญของการวางแผนรับมืออย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ทายาทรุ่นถัดไปได้เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการธุรกิจเร็วยิ่งขึ้น จากผลสำรวจโดย Lombard Odier พบว่า 45% ของครอบครัวที่ยังไม่ได้จัดทำธรรมาภิบาลของครอบครัวสนใจที่จะเริ่มวางแผนบริหารทรัพย์สินครอบครัวในอนาคต

ธุรกิจครอบครัวมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจไทย โดยพบว่ากว่า 3 ใน 4 ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นธุรกิจครอบครัว จากสถิติพบว่า 75% เป็นธุรกิจครอบครัวไทยที่อยู่ในการบริหารของรุ่นที่ 2 และมีเพียง 4% เท่านั้นที่อยู่ในการบริหารของรุ่นที่ 3 และ 4 ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ธุรกิจครอบครัวไทยส่วนใหญ่ยังจัดตั้งมาไม่นานและกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญในการเริ่มวางแผนเพื่อบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

นายพีระพัฒน์  เหรียญประยูร Chief – Wealth Planning, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า KBank Private Banking ให้บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัวอย่างครบวงจร เน้นให้ความรู้ที่แม่นยำและทันต่อเหตุการณ์ในโลกปัจจุบัน พร้อมด้วยประสบการณ์ระดับสากลของพันธมิตร Lombard Odier เพื่อช่วยลูกค้าในการวางแผน และอำนวยความสะดวกในการดำเนินการตามแผนที่ได้วางไว้ ปัจจุบัน ได้ให้บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัวแก่ลูกค้ามาทั้งสิ้นประมาณ 3,600 ราย หรือคิดเป็นประมาณ 720 ครอบครัว ครอบคลุมทรัพย์สินครอบครัว ทั้งธุรกิจและที่ดินรวมมูลค่ากว่า 120,000 ล้านบาท*

ทั้งนี้ พบว่าครอบครัวส่วนใหญ่ยังคงมุ่งเน้นการขยายธุรกิจมากกว่าการวางแผนและจัดการอย่างเป็นระบบ และส่วนใหญ่เผชิญกับความท้าทายและมีความต้องการที่คล้ายคลึงกันหลักๆ 3 ประการ ได้แก่

  1. การหาความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจและการถือครองทรัพย์สิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางแผนด้านภาษีอย่างเป็นระบบ ซึ่งมีปัจจัยเร่งที่สำคัญมาจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศเพื่อการเก็บภาษีที่เข้มงวดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายForeign Account Tax Compliance Act (FATCA) ของสหรัฐอเมริกา หรือระบบ Common Reporting Standard ดังนั้น เราจึงเน้นแนะนำให้ลูกค้าวางแผนเรื่องบริหารสินทรัพย์ของครอบครัวโดยคำนึงถึงต้นทุนทางภาษีที่ต้องแบกรับ และวางแผนป้องกันพร้อมรับมืออย่างเหมาะสม
  2. การบริหารจัดการระบบกงสีแบบดั้งเดิมเริ่มมีความท้าทายขึ้นในบริบทปัจจุบัน ซึ่งความยึดมั่นในขนบธรรมเนียมในการตัดสินใจเป็นหลัก หลายครอบครัวจึงเร่งปรับกติกาของกงสีให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งการใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ของครอบครัว อาทิ การจัดตั้งโครงสร้างที่เป็นระบบ โดยใช้กลุ่มบริษัทโฮลดิ้งของครอบครัว หรือการใช้ทรัสต์ที่จัดตั้งในต่างประเทศ เพื่อจัดเก็บและบริหารจัดการกงสีอย่างยั่งยืน พร้อมทั้ง วางแผนการด้านอื่นๆ ไปพร้อมกัน เช่น ในกรณีที่สมาชิกคนใดประสบปัญหาด้านการเงินส่วนตัว ก็ยังมีทรัพย์ที่ได้รับจากกองทรัสต์เพื่อเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวต่อไป รวมถึงระบบสวัสดิการสำหรับสมาชิกในครอบครัวได้อีกด้วย
  3. ทัศนคติและเป้าหมายที่แตกต่างกันของสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะทายาทรุ่นที่2 และ 3 ที่มีโอกาสได้ไปศึกษาและใช้ชีวิตในต่างประเทศ รวมถึงมีแนวความคิดใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ ซึ่งอาจทำให้เกิดอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจในช่วงเปลี่ยนผ่านได้ สิ่งที่สำคัญที่แนะนำแก่ลูกค้าคือ การเตรียมความพร้อมให้คนรุ่นใหม่และการเปิดให้พวกเขามีส่วนร่วมตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ นอกจากนี้ การวางกติกาครอบครัวซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกทุกรุ่นก็มีความจำเป็นที่ต้องอาศัยคนกลางที่มีประสบการณ์ในการวางแผนอย่างมีระบบ

เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในด้านการบริหารความมั่งคั่งยิ่งขึ้น KBank Private Banking จะเร่งยกระดับบริการทั้งในด้านกลยุทธ์ในการพัฒนาระบบติดตามผล เพื่อช่วยให้ครอบครัวสามารถวางแผนและดำเนินการบริหารสินทรัพย์ได้อย่างเป็นขั้นตอนและต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังเตรียมเสริมบริการในด้านการทำสาธารณกุศลของครอบครัว และการอำนวยความสะดวกในเรื่องบริการสำนักงานครอบครัว (Family Office) อีกด้วย

บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัว ต้องใช้เวลาและความละเอียดในการกำหนดแผนการและข้อกำหนดของแต่ละครอบครัว เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติที่สมาชิกในครอบครัวทุกรุ่นทุกคนเห็นพ้องต้องกัน โดยธนาคารตั้งเป้าว่าจะให้บริการลูกค้าให้ครอบคลุม 50% ของลูกค้าทั้งหมด* ภายใน 3 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่ให้บริการลูกค้าแล้วประมาณ 32%

บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัวของ KBank Private Banking ครอบคลุม 6 ด้าน ได้แก่

  1. การจัดโครงสร้างการถือครองทรัพย์สินของครอบครัว (Asset Holding Structures)
  2. การบริหารความเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของครอบครัว (Financial Asset, Liability and Risk Management)
  3. การสร้างกติกาของครอบครัวและการสืบทอดธุรกิจ อย่างเป็นระบบ (Family Continuity Planning)
  4. การวางแผนการส่งต่อทรัพย์สินจากรุ่นสู่รุ่น (Inheritance and Wealth Transfer)
  5. การทำสาธารณกุศล (Philanthropy)
  6. การทำหน้าที่เป็นสำนักงานของครอบครัว (Family Office)

 

Share: