เมืองไทยประกันชีวิต ยืดให้บริการ Telemedicine ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รักษาตัวถึงสิ้นปี 64

370
0
Share:

นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยว่า  เพื่อเป็นการตอกย้ำการดำเนินงานภายใต้นโยบาย “MTL Trusted  Lifetime Partner” ที่พร้อมดูแลและเดินเคียงข้างในทุกช่วงของชีวิต  และด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ยังมีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่เมืองไทยประกันชีวิตได้ร่วมกับโรงพยาบาลคู่สัญญาที่เข้าร่วมโครงการ “การให้บริการพบแพทย์และได้รับยาตามคำสั่งการรักษาของแพทย์ผ่านทางโทรเวชกรรม (Telemedicine)” สำหรับผู้เอาประกันภัยมีโรคเรื้อรังและมีนัดตรวจติดตามการรักษา ทำการขยายระยะเวลาให้บริการจากเดิมจะให้บริการถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 เป็น วันที่ 31 ธันวาคม 2564 เพื่อเป็นการมอบความอุ่นใจ  การอำนวยความสะดวก และการลดความเสี่ยงจากการเดินทางออกจากบ้านให้กับผู้เอาประกันภัย

นอกจากนี้โครงการให้บริการดังกล่าว  ยังได้มีโรงพยาบาลคู่สัญญาเข้าร่วมให้บริการดังกล่าวเพิ่มเติมอีก จำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย  โรงพยาบาลสุขุมวิท  และโรงพยาบาลพิษณุเวช ทำให้ปัจจุบันมีโรงพยาบาลคู่สัญญา  เข้าร่วมให้บริการ Telemedicine กับเมืองไทยประกันชีวิตแล้วเป็นจำนวน 37 แห่ง

โดยผู้เอาประกันภัยที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังและมีความประสงค์ใช้บริการ Telemedicine  นี้ จะต้องเป็นผู้ป่วยเดิมที่มีประวัติการรักษาในโรงพยาบาลที่ให้บริการตามที่กำหนด โดยเป็นโรคเรื้อรังที่จำเป็นต้องมีการติดตามและต้องได้รับยาต่อเนื่อง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น โดยบริการดังกล่าวจะครอบคลุมการพบแพทย์ และการสั่งยา ทั้งนี้สามารถใช้บริการได้ทั้งผู้เอาประกันภัยรายบุคคลและรายกลุ่ม ที่มีผลประโยชน์ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก (เงื่อนไขเป็นไปตามที่โรงพยาบาลและกรมธรรม์กำหนด)

สำหรับบริการ Telemedicine Samitivej Virtual Hospital ยังคงให้บริการตามเงื่อนไขปกติ ครอบคลุมทั้งการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังและการเจ็บป่วยด้วยโรคทั่วไป ไม่จำเป็นต้องเป็นคนไข้เดิมของทางโรงพยาบาล ครอบคลุมทั้งผู้เอาประกันภัยรายบุคคลและรายกลุ่ม (เงื่อนไขเป็นไปตามที่โรงพยาบาลและกรมธรรม์กำหนด)

 

 

Share: