เอสซีจี ผลงานไตรมาส 1 ปี 2565 ยังคงแข็งแกร่ง ชู 4 กลยุทธ์ รุกไว ลุยตลาดโลก

351
0
Share:

เอสซีจี เผยผลประกอบการ ไตรมาส 1 ปี 2565 ยังคงแข็งแกร่ง รับมือต้นทุนพลังงาน-วัตถุดิบทะยานสูงจากรัสเซีย-ยูเครน ชู 4 กลยุทธ์รุกไว ลุยตลาดโลก 1.) บริหารธุรกิจเชิงรุก ยืดหยุ่น 2.) เสิร์ฟนวัตกรรมรับเทรนด์ทันท่วงที คว้าตลาดรับเปิดเมือง 3.) เดินหน้าลงทุนรับโอกาสตลาดโลกโต 4.) เร่ง ESG (Environmental, Social, Governance) สร้างภูมิคุ้มกันธุรกิจ เพื่อการเติบโตระยะยาว พร้อมลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาทักษะ สร้างอาชีพแก่ชุมชน บรรเทาผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า “งบการเงินรวมก่อนสอบทานของเอสซีจี ไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2565 มีรายได้จากการขาย 152,494 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากไตรมาสก่อน จากยอดขายที่สูงขึ้นของทุกกลุ่มธุรกิจ และมีกำไรสำหรับงวด 8,844 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนใหญ่จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมของธุรกิจอื่น (ธุรกิจเครื่องจักรกลการเกษตร)

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้จากการขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของทุกกลุ่มธุรกิจ สาเหตุหลักจากราคาผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาด และกำไรสำหรับงวดลดลงร้อยละ 41 สาเหตุหลักจากต้นทุนวัตถุดิบของธุรกิจเคมิคอลส์ปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ประกอบกับในช่วงต้นปี 2564 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีผลประกอบการที่ดีกว่าปกติ สาเหตุจากวิกฤตฤดูหนาวที่รุนแรงในสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลให้อุปทานมีอยู่อย่างจำกัด

“เอสซีจี ยังคงแข็งแกร่งทั้งในไทยและต่างประเทศ แม้ต้องเผชิญภาวะต้นทุนสูงขึ้น จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งบริษัทรับมือกับสภาวะดังกล่าว โดย เร่ง 4 กลยุทธ์ รุกไว ลุยตลาดโลก ได้แก่ 1. บริหารจัดการธุรกิจเชิงรุก 2. ส่งมอบนวัตกรรมรับเทรนด์ทันท่วงที 3. เดินหน้าลงทุนรับโอกาสตลาดโลกโต 4. เร่ง ESG (Environmental, Social, Governance) สร้างภูมิคุ้มกันทางธุรกิจ เพื่อการเติบโตระยะยาว” นายรุ่งโรจน์กล่าว

บริหารจัดการธุรกิจเชิงรุก

ปรับตัวไวพร้อมความยืดหยุ่น ปิดความเสี่ยงจากต้นทุนพลังงาน-วัตถุดิบพุ่งสูง และความไม่แน่นอนที่อาจยาวต่อเนื่องใน 3-6 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งสถานการณ์โควิด 19 ด้วยการติดตามราคาพลังงานต่อเนื่องและเพิ่มการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อลดต้นทุน โดยไตรมาสที่ 1 ปี 2565 เอสซีจี มีสัดส่วนการใช้พลังงานชีวมวล (Biomass) จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและเชื้อเพลิงจากขยะ RDF เท่ากับร้อยละ 16.4 โดยมีการใช้พลังงานชีวมวลสำหรับการผลิตซีเมนต์ในประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 30.4, จัดการปริมาณสินค้าคงคลัง (Inventory) ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ความต้องการ, ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและบริหารห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เช่น SCGC ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) บริหารพลังงานในการผลิต ลดการใช้พลังงาน และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยวิเคราะห์ราคาต้นทุนและโอกาสในการซื้อ เพื่อจัดหาวัตถุดิบที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมตามสถานการณ์ตลาด ทั้งยัง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อพร้อมปรับตัวได้ไว

ส่งมอบนวัตกรรมรับเทรนด์ทันท่วงที

คว้าโอกาสการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากการเปิดประเทศ ผ่านนวัตกรรม สินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) เพื่อรุกตลาดไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ดี เช่น นวัตกรรมเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง “เซอร์คูลาร์ พีพี (Circular PP)” จากเทคโนโลยี Advanced Recycling มีคุณสมบัติเทียบเท่าเม็ดพลาสติกใหม่ เหมาะสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “SCG Solar Roof ระบบ Hybrid” ระบบหลังคาโซลาร์ เทคโนโลยีระบบไฮบริด มีแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานไฟฟ้าให้สามารถใช้ไฟได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ช่วยประหยัดสูงสุดถึง 60% “SCG Bi-ion” ระบบไอออนกำจัดเชื้อโรคในอากาศ กำจัดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย สูงถึง 99% รวมถึงช่วยลดฝุ่น PM 2.5, ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านการก่อสร้าง อาทิ “CPAC BIM” เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการออกแบบก่อสร้างแม่นยำ ลดการสูญเสียทรัพยากรและคุ้มค่าการลงทุน “CPAC Low Rise Building Solution” นวัตกรรมการก่อสร้างด้วยคอนกรีตสำเร็จรูป ระบบพรีแคส ติดตั้งเร็ว แม่นยำ ไม่เกิดของเหลือที่หน้างานก่อสร้าง นอกจากนี้ ยังมุ่งขยายโซลูชันบรรจุภัณฑ์ให้ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภค เช่น บรรจุภัณฑ์อาหารที่มีดีไซน์หลากหลาย และบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภค

เดินหน้าลงทุนรับโอกาสตลาดโลกโต

SCGC ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 เพื่อระดมทุนเดินหน้าขยายธุรกิจศักยภาพสูง สร้างความเติบโตอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคอาเซียน ตอบโจทย์ตลาดโลกและความยั่งยืนไปพร้อมกัน

ด้านโครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ที่เวียดนาม มีความคืบหน้าการก่อสร้างตามแผนร้อยละ 93 โดยเตรียมความพร้อมด้านกำลังพล ทั้งด้านการผลิตและการขายเพื่อดำเนินการเชิงพาณิชย์ในครึ่งแรกของปี 2566

ช่วงที่ผ่านมา SCGC ปิดดีลซื้อหุ้นกว่าร้อยละ 70 ของบริษัท ซีพลาสต์ (Sirplaste) ผู้นำด้านพลาสติกรีไซเคิลในประเทศโปรตุเกส ผนึกกำลังเพิ่มกำลังการผลิต พร้อมปรับปรุงคุณภาพพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง (High Quality Post-Consumer Recycled Resin: PCR) รองรับความต้องการตลาดโลก สอดคล้องกับเป้าหมายของ SCGC ที่จะขายสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573 และ ล่าสุด เพื่อความเป็นผู้นำในภูมิภาค เอสซีจี จับมือไมโครซอฟท์ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระดับโลก อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ควอนตัม คอมพิวเตอร์ (Quantum Computer) มายกระดับการดำเนินงานด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน

เร่ง ESG (Environmental, Social, Governance) สร้างภูมิคุ้มกันทางธุรกิจ

ด้วยแนวทาง ESG 4 Plus (มุ่ง Net Zero – Go Green – Lean เหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ ภายใต้ความเป็นธรรม โปร่งใส) โดยเอสซีจีเดินหน้าตามแผนงาน เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 และลดลงอย่างน้อยร้อยละ 20 ในปี 2573 (จากปีฐาน 2563) ตลอดจน มุ่งนำเสนอนวัตกรรมรักษ์โลก สร้างการมีส่วนร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม โดยสินค้าฉลาก SCG Green Choice มียอดขายในไตรมาสแรกของปี 2565 เท่ากับ 77,214 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 จากไตรมาสก่อน คิดเป็นร้อยละ 51 ของยอดขายรวม และผลักดัน SCG Cleanergy ผู้ให้บริการพลังงานสะอาดด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตั้งแต่การขออนุญาต การติดตั้ง ดำเนินการ และบำรุงรักษา ตลอดจนเชื่อมต่อการซื้อขายกับการไฟฟ้า พร้อมทั้งการซื้อขายไฟฟ้าบนแพลตฟอร์มเสมือนจริง (Virtual Trading Platform) เพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้พลังงานทางเลือกในวงกว้าง

 

Share: