ไทยพาณิชย์ ส่งแคมเปญ “เงินทันใจ ไม่ต้องรอรอบบิล” เสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจบน B2P

384
0
Share:

ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดแคมเปญ “เงินทันใจ ไม่ต้องรอรอบบิล (SCB Invoice Financing)” รับเงินง่ายและได้เงินเร็ว ผ่านระบบ B2P ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ช่วยเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจรับเงินล่วงหน้าก่อนถึงวันครบกำหนดการจ่ายเงินจากคู่ค้า พร้อมจัดโปรโมชั่นพิเศษ ฟรี! ค่าธรรมเนียมส่วนลดรับซื้อใบแจ้งหนี้ ผู้ประกอบการจึงเบิกเงินได้เต็ม 100% ของยอดใบแจ้งหนี้ เมื่อทำรายการบนแพลตฟอร์ม B2P ระหว่างวันที่ 16 มกราคม – 15 มีนาคม 2564 

นายศิโรตม์ วิชยาภัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน GTS and Ecosystems ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจปัจจุบันอยู่ในยุคที่แข่งขันกันด้วยเทคโนโลยีและความรวดเร็ว ธนาคารไทยพาณิชย์จึงพยายามพัฒนาช่องทางให้บริการแก่ภาคธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งมีทั้งประสิทธิภาพและให้ความสะดวกรวดเร็วแก่ผู้ใช้บริการยิ่งขึ้น สำหรับแพลตฟอร์ม B2P (Blockchain Solution for Procure-to-Pay) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ถือเป็นหนึ่งช่องทางสำคัญที่ธนาคารต้องการผลักดันให้เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มช่วยยกระดับประสิทธิภาพของกระบวนการทางธุรกิจ และอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ให้กับเครือข่ายผู้ประกอบการที่เป็นซัพพลายเชนของบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทย

ทั้งนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ และ ดิจิทัลเวนเจอร์ส ได้ต่อยอดศักยภาพ B2P เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในเครือข่ายซัพพลายเชนบนระบบสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น มอบบริการ “เงินทันใจ ไม่ต้องรอรอบบิล (SCB Invoice Financing)” เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการบนระบบ B2P ได้รับเงินค่าสินค้าหรือบริการจากคู่ค้าล่วงหน้าก่อนถึงวันครบกำหนดจ่ายเงิน (Credit Term) โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และสามารถดำเนินการได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้เชื่อว่าบริการดังกล่าวจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการนำเงินไปใช้หมุนเวียนในกิจการ และสามารถบริหารการเงินให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจอย่างเต็มศักยภาพ

เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้เริ่มต้นใช้งานบริการ SCB Invoice Financing บน B2P ธนาคารไทยพาณิชย์จึงได้จัดโปรโมชั่นพิเศษ ฟรี! ค่าธรรมเนียมส่วนลดรับซื้อใบแจ้งหนี้ ผู้ประกอบการจึงเบิกเงินได้เต็ม 100% ของยอดใบแจ้งหนี้ เพียงทำรายการบนแพลตฟอร์ม B2P ระหว่างวันที่ 16 มกราคม – 15 มีนาคม 2564  โดยให้ทดลองใช้งานจำนวนรวม 2 ใบแจ้งหนี้ สูงสุดฉบับละไม่เกิน 2 ล้านบาท (เงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด)

“ในระยะแรกจะนำร่องสำหรับผู้ประกอบการทั้งผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าที่เป็นเครือข่ายซัพพลายเชนที่อยู่ทั่วประเทศของบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่บนแพลตฟอร์ม B2P จากกลุ่มบริษัทในเครือเอสซีจี และกลุ่มบริษัทในเครือไมเนอร์ เพื่อเข้าร่วมแคมเปญในครั้งนี้ โดยธนาคารตั้งเป้าหมายจะเดินหน้าขยายผลและต่อยอดไปสู่เครือข่ายซัพพลายเชนจากองค์กรอื่นๆ บนแพลตฟอร์ม B2P ทั่วประเทศ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการลงทะเบียนเข้าใช้ระบบแล้วกว่า 10,000 ราย ขณะเดียวกันแพลตฟอร์ม B2P ก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและขยายขีดความสามารถในมิติต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการใช้งานทั้งภาคเอกชน ตลอดจนภาครัฐ และความร่วมมือกับกรมสรรพากรเพื่อพัฒนาบริการใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์บนบล็อกเชน”

 

Share: