DITP เติมเต็มศักยภาพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ปูทางสู่ตลาดโลก พร้อมเปิดเทรนด์ที่แบรนด์ต้องรู้เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

381
0
Share:

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เดินหน้าเปิด “โครงการพัฒนาศักยภาพ ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรสู่ตลาดต่างประเทศ” เร่งเครื่องยกระดับผู้ประกอบการสมุนไพรไทย พัฒนาองค์ความรู้ เสริมทักษะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างครบวงจร มุ่งเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อขยายสู่ตลาดสากลและเปิดตลาดใหม่ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ของขวัญ ของฝาก ของที่ระลึก ตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรสู่ตลาดต่างประเทศ ปี 2564 จัดขึ้นเป็นปีแรกเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนการยกระดับมาตรฐานและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์สมุนไพรผ่านการแลกเปลี่ยน แนวคิด และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ พร้อมเสริมทักษะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างครบวงจร ผ่านกิจกรรมของโครงการฯ ภายใต้แนวคิด “SHAPE YOUR BRAND” สร้างความแตกต่าง เพื่อการจดจำและการรับรู้ BRAND โดยการออกแบบบรรจุภัณฑ์สู่ สากล “SHARING KNOWLEDGE” แบ่งปันความรู้และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ และ “SHIFT TO NEW MARKET” ปรับเปลี่ยนเพื่อเป็นโอกาสในการเปิดสู่ตลาดใหม่

ล่าสุดได้มีการจัดกิจกรรมอบรมความรู้ (Pool Training) ภายใต้แนวคิด “SHAPE YOUR BRAND” โดยมีวิทยากรจาก 4 แบรนด์ชั้นนำมาร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการสร้างความแตกต่างของแบรนด์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถนำไปประยุกต์และต่อยอดในการพัฒนาตนเองต่อไป

นางพัชรี ภักดีบุตร ผู้ก่อตั้ง ERB ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันการเลือกกลุ่มเป้าหมายในการทำการตลาดของผลิตภัณฑ์จะมุ่งเน้นไปที่ไลฟ์สไตล์มากกว่าการเลือกตามเพศ หรือ อายุ เหมือนในอดีต ดังนั้น การสร้างแบรนด์ที่มีเรื่องราว (Storytelling) และการนำเสนอที่มี เอกลักษณ์และสร้างสรรค์ พร้อมเลือกใช้รูปที่สวยงามเพื่อสร้างการจดจำ รวมถึงวางกลยุทธ์ คิดนอกกรอบ (Out Standing) จะช่วยให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น นอกจากนี้แล้ว การออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม และการสร้างความยั่งยืน ก็จะช่วยสร้างโอกาสในการเติบโตระยะยาวตามแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้น 

นายสมชนะ กังวารจิตต์ ผู้ก่อตั้งสตูดิโอออกแบบ PROMPT DESIGN ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการสร้างการรับรู้ของแบรนด์ผ่านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ว่า ที่ผ่านมามีแบรนด์ไทยจำนวนมากประสบความสำเร็จจากการปรับบรรจุภัณฑ์ใหม่ให้มีความโดดเด่นและทำให้ลูกค้าจดจำได้ รวมถึงการเพิ่มฟังก์ชันในการใช้งาน ส่งผลให้ลูกค้าสนใจที่จะเลือกซื้อบรรจุภัณฑ์เพื่อเป็นของสะสม และนำไปใช้งานต่อ จึงสามารถเพิ่มยอดขายได้อย่างต่อเนื่อง

นายณัทธร รักษ์ชนะ ผู้ก่อตั้ง KARMAKAMET แบ่งปันประสบการณ์ว่า การผสานองค์ความรู้จากภูมิปัญญาสู่การสร้างแบรนด์ให้เป็นสากล ต้องเริ่มต้นจากความเข้าใจ ในผลิตภัณฑ์ที่มีความเชี่ยวชาญมากที่สุด รวมถึงต้องเข้าใจปัญหาและความต้องการของลูกค้า ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับตลาด ตลอดจนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้บริโภค นอกจากนี้ การตลาดออนไลน์ควรมุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้าและกลุ่มเป้าหมายที่มาใช้บริการ รวมถึงมีการจัดทำข้อมูล (DATA) ขององค์กรเพื่อสร้างประโยชน์แก่องค์กรในระยะยาว

นางปารีสา จาตนิลพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโสพัฒนาธุรกิจค้าปลีกของ SIAM PIWAT ชี้ให้เห็นว่า เทรนด์การทำตลาดได้มุ่งไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงต้องปรับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องกัน พร้อมด้วยการเล่าเรื่องของแบรนด์ (Storytelling) ที่ต้องสร้างอารมณ์และความรู้สึกแก่ผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นอาวุธสำคัญที่ช่วยสร้างแบรนด์และความยั่งยืนให้แก่แบรนด์ นอกจากนี้ พลังโซเซียลมีเดีย (Power of Social Media) เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการตลาดในปัจจุบัน การทำให้ลูกค้าบอกต่อและนำไปโพสต์ต่อ ลูกค้าสามารถเป็นผู้ช่วยเพิ่มการรับรู้ของแบรนด์ และจัดทำโปรโมชั่นเพื่อให้ลูกค้ามาซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งถือเป็นการตลาดแบบ Viral Marketing และเป็นที่นิยมในปัจจุบัน

 

 

Share: