KBTG จับมือมหาวิทยาลัยและองค์กรรัฐ จัด Tech Kampus สร้างบุคลากรสู่วงการไอที

371
0
Share:

KBTG จับมือองค์กรภาครัฐ และมหาวิทยาลัย จัดโครงการ Tech Kampus พัฒนาคุณภาพการศึกษาและบุคลากรทางด้านไอที ในการเรียนรู้ และส่งเสริมงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้สามารถนำไปต่อยอดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับวงการธุรกิจไทย และสร้างบุคคลากรด้านไอทีสู่วงการไอทีไทยในระดับโลก 

นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส–เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เปิดเผยว่า KBTG ในฐานะผู้นำทางด้านเทคโนโลยีของประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญในเรื่องของคนและการพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยี ในการเรียนรู้ ต่อยอด และวิจัยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในโลกปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะนักศึกษาและบุคลากรด้านไอที ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่มีโอกาสได้เรียนรู้และการลงมือปฏิบัติงานจริง รวมถึงการได้รับแนะแนวจากผู้มีประสบการณ์ด้านวงการไอที   

KBTG จึงจัดโครงการ Tech Kampus โดยร่วมมือกับ 2 องค์การภาครัฐ ประกอบด้วย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย และ 7 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล และวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยการส่งผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีของ KBTG ไปถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ร่วมมือพัฒนาหลักสูตรและยกระดับคุณภาพการศึกษาในสาขา Data Science และ Artificial Intelligence (AI) รวมทั้งต่อยอดและผลิตงานวิจัยใหม่ ๆ ทางด้านเทคโนโลยี  

นอกจากนั้น KBTG จะเปิดรับนิสิตนักศึกษาเข้ามาเรียนรู้และเข้ามาฝึกงานกับทาง KBTG วิจัยเทคโนโลยีใหม่ ๆ และเตรียมความพร้อมสู่โลกทำงาน เพื่อนำความรู้และทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานด้านไอทีมาใช้งานจริงได้ทันที และสามารถนำไปต่อยอดเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น การนำ Biometrics และ Facial Recognition เพื่อระบุและยืนยันตัวตนด้วยความรวดเร็ว ไปพัฒนาทำ Online  Service และ Smart Branch ให้กับลูกค้าธนาคารกสิกรไทยและคนไทยได้ใช้ในอนาคต 

นายเรืองโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา KBTG ได้เข้าไปร่วมคิดค้นรวมถึงช่วยพัฒนาเทคโนโลยีให้กับองค์กรภาครัฐ เช่น โครงการ Thai NLP (Thai Natural Language Processing) การประมวลผลทางภาษาธรรมชาติ ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อลดช่องว่างในการสื่อสารภาษาธรรมชาติระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ ที่เริ่มพัฒนาร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ซึ่งปัจจุบันได้มีการต่อยอดเป็นสมองกลปัญญาประดิษฐ์ Chatbot ของเพจ KBank Live และใน LINE BK ทั้งยังมีการนำไปใช้เป็นเครื่องมือ Social Listening และการวิจัย Facial Recognition โดยร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) พัฒนา Face Liveness Detection พิสูจน์ความเป็นบุคคล เพื่อป้องกันการปลอมแปลง และโครงการ CU NEX ที่พัฒนาร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ทุกมิติการใช้ชีวิตของนิสิตและบุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งการเรียน และการทำงาน เพื่อให้ทุกคนสามารถพัฒนาศักยภาพอย่างก้าวกระโดด มุ่งหน้าสู่เป้าหมายของการเป็น ‘Digital Lifestyle University’ 

 

Share: