การ์ทเนอร์เผยผลสำรวจ ผู้บริหาร 80% ชี้ระบบอัตโนมัติสามารถนำมาใช้กับการตัดสินใจเชิงธุรกิจใดๆ ก็ได้

172
0
Share:

 

การ์ทเนอร์เปิดผลสำรวจล่าสุด พบว่า 80% ของผู้บริหารคิดว่าระบบอัตโนมัติ (Automation) สามารถนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจใดๆ ก็ได้ โดยการสำรวจนี้เผยให้เห็นรูปแบบขององค์กรต่างๆ ที่กำลังพัฒนาการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เมื่อระบบอัตโนมัติฝังตัวอยู่ในธุรกิจดิจิทัล โดยเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ระบบอัตโนมัติขององค์กร

เอริค เบรทเดอนิวซ์ รองประธานฝ่ายวิจัยการ์ทเนอร์ กล่าวว่า “จากผลสำรวจดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่าองค์กรต่างๆ นั้นกำลังเปลี่ยนแนวทางเชิงยุทธศาสตร์แบบเดิมๆ ไปสู่ AI และเริ่มนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในเชิงกลยุทธ์ขององค์กรมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น หนึ่งในสามขององค์กรกำลังนำระบบ AI ไปใช้กับแผนกต่างๆ ในธุรกิจ เพื่อเสริมสร้างจุดแข็งและความต่างด้านการแข่งขัน และยังใช้ AI สนับสนุนการตัดสินใจในกระบวนการทางธุรกิจ”

องค์กรยังเผชิญความท้าทายกับการย้าย AI จากสนามทดสอบไปสู่การใช้งานจริง
จากการสำรวจของการ์ทเนอร์เผยว่า โครงการต่าง ๆ ด้าน AI เฉลี่ย 54% นั้นเกิดจากโครงการทดสอบต่างๆ ไปสู่การดำเนินงานจริง ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 53% ในปี 2562 ตามรายงาน Gartner 2019 AI in Organizations Survey

ฟราสซิส คารามูซิส รองประธานฝ่ายวิจัยการ์ทเนอร์ กล่าวว่า “การปรับสัดส่วน AI ให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจยังเป็นความท้าทายสำคัญ โดยองค์กรต่างๆ ยังประสบปัญหาการเชื่อมต่ออัลกอริธึมที่พวกเขาสร้างขึ้นกับคุณค่าของธุรกิจที่มอบให้กับลูกค้า (Business Value Proposition) ซึ่งกลายเป็นเรื่องยากสำหรับผู้บริหารฝ่ายไอทีและผู้บริหารธุรกิจในการวิเคราะห์และพิสูจน์ความคุ้มค่าของการลงทุนที่จำเป็นต่อโมเดลการทดสอบ”

องค์กร 40% ระบุว่ามีการนำแบบจำลอง AI หลายพันรายการไปใช้งาน ซึ่งสร้างความซับซ้อนให้กับการกำกับดูแลขององค์กรและยังเป็นความท้าทายต่อความสามารถของผู้บริหารด้านข้อมูลและการวิเคราะห์เพื่อแสดงผล ROI (Return On Investment) จากแบบจำลองแต่ละแบบ

บุคลากรไม่ใช่อุปสรรคสำคัญของการใช้ AI
แม้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรจะส่งผลกระทบต่อการริเริ่มโครงการ AI แต่จากผลสำรวจกลับพบว่า บุคลากรไม่ใช่อุปสรรคสำคัญในการนำ AI มาใช้ โดยผู้บริหารถึง 72% บอกว่า พวกเขามีบุคลากรที่มีทักษะด้านนี้พร้อมอยู่ในมือหรือสามารถจัดหาบุคลากร AI ที่มีความสามารถในแบบที่องค์กรต้องการได้

“องค์กรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดผสมผสานการใช้บุคลากรที่พัฒนาขึ้นจากภายในกับการว่าจ้างบุคคลภายนอกที่มีความสามารถและเชี่ยวชาญด้าน AI ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวนี้ทำให้มั่นใจได้ว่าทีมจะสามารถเดินหน้าทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการเรียนรู้ทักษะและเทคนิค AI ใหม่ๆ รวมถึงไอเดียใหม่ๆ ที่ได้มาจากบุคคลภายนอก” เบรทเดอนิวซ์ กล่าวเพิ่มเติม

ความกังวลด้าน AI กับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวที่ผิดที่ผิดทาง
ความกังวลด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวไม่ได้ถูกจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของเรื่องอุปสรรคสำคัญต่อการนำ AI มาใช้ โดยมีผู้บริหารเพียง 3% เท่านั้นที่ระบุว่ารู้สึกกังวลกับประเด็นนี้ อย่างไรก็ตามองค์กร 41% เผยว่าเคยพบการละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยของ AI มาก่อน

เมื่อถามว่าส่วนใดขององค์กรธุรกิจที่กังวลด้านความปลอดภัยของ AI มากที่สุด ผู้ตอบแบบสอบถาม 50% กังวลเกี่ยวกับคู่แข่ง คู่ค้า หรือบุคคลที่สามอื่นๆ และ 49% กังวลเรื่องอันตรายจากแฮ็กเกอร์ อย่างไรก็ตาม กลับมีถึง 60% ขององค์กรที่เผชิญกับปัญหาความปลอดภัยหรือเหตุการณ์ความเป็นส่วนตัวของ AI ที่เผยว่ามีการประนีประนอมในประเด็นของข้อมูลกันภายใน

“ข้อกังวลต่างๆ ในด้านความปลอดภัย AI ขององค์กรมักถูกเข้าใจผิด เนื่องจากการละเมิดที่เกิดจาก AI ส่วนใหญ่เกิดจากบุคคลภายใน ขณะที่การตรวจจับและป้องกันการโจมตีมีความสำคัญ ระบบความปลอดภัยของ AI ควรให้ความสำคัญกับการลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นโดยมนุษย์ด้วยเช่นกัน” เบรทเดอนิวซ์ กล่าวสรุป

Share: