ธนาคารกรุงเทพ ใจฟูโครงการ ‘Bualuang Save the Earth: รักษ์ท่าจีน’ 2 เดือน ช่วยลดขยะลงทะเลได้กว่า 6 ตัน พร้อมลุยให้ความรู้และจัดการขยะอย่างยั่งยืน

128
0
Share:

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เผยผลงานเครื่องมือดักขยะจากโครงการ ‘Bualuang Save the Earth: รักษ์ท่าจีน’ พบมีประสิทธิภาพช่วยดักขยะได้ถึง 6,012 กิโลกรัม ภายในระยะเวลา 2 เดือน ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้ 21.04 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า พร้อมเร่งวิเคราะห์เพื่อศึกษาที่มาของขยะ หวังแก้ต้นตอของปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

ดร.จิระวัฒน์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เจ้าหน้าที่บริหารระดับ Vice President ฝ่ายผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตามที่ธนาคารได้ติดตั้งเครื่องมือดักขยะ 3 ประเภท ได้แก่ ทุ่นดักขยะ (บูม) กระชังไม้ไผ่ดักขยะ และเครื่องมือดักขยะแบบปักหลัก ในพื้นที่นำร่องบริเวณคลองหลวงสหกรณ์ และคลองพิทยาลงกรณ์ ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นแผนงานในระยะที่ 1 ของโครงการ เนื่องจากเป็นจุดสำคัญที่มีปริมาณขยะจำนวนมากที่ไหลจากชุมชนต่างๆ มารวมกันก่อนออกปากแม่น้ำท่าจีนและไหลเข้าสู่อ่าวไทย

โดยผลการดำเนินงานดักขยะของเครื่องมือทั้ง 3 ประเภทเป็นระยะเวลากว่า 2 เดือนนั้น พบว่า สามารถดักจับขยะได้ถึง 6,012 กิโลกรัม โดยเป็นขยะประเภทพลาสติกมากที่สุดถึง 2,818 กิโลกรัม รองลงมาคือ โฟม 2,307 กิโลกรัม ขวดแก้ว 461 กิโลกรัม กระดาษ 224 กิโลกรัม โลหะ 117 กิโลกรัม และขยะอื่นๆ 65 กิโลกรัม และหากนำขยะทั้งหมดที่สามารถรีไซเคิลได้ไปรีไซเคิลก็จะสามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการฝังกลบหรือเทกองขยะได้ถึง 21.04 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

“เครื่องมือดักขยะทั้ง 3 ประเภทนี้ มีเจ้าหน้าที่และประชาชนในชุมชนร่วมกันดูแลรักษาเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและช่วยให้ตระหนักถึงปัญหาในชุมชนได้มากขึ้น โดยทุกรอบของการจัดเก็บขยะจะมีการบันทึกข้อมูลเพื่อวัดปริมาณขยะแต่ละประเภทและนำมาวิเคราะห์ประเภทและที่มาของขยะเพื่อให้สามารถนำข้อมูลไปแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุได้อย่างตรงจุด ซึ่งธนาคารกรุงเทพ ในฐานะ “เพื่อนคู่คิด” จะดำเนินการให้ความรู้และปลูกฝังเรื่องการทิ้งขยะและคัดแยกขยะให้แก่ประชาชนในพื้นที่ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับชุมชน รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ และสถานศึกษาในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการดักจับขยะที่ปลายทาง เพื่อลดปริมาณขยะที่จะไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีนและอ่าวไทยได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย” ดร.จิระวัฒน์ กล่าว

นายอนุสรณ์ สุขรุ่งเรือง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกขาม อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า การติดตั้งเครื่องดักขยะในช่วงที่ผ่านมาสามารถช่วยลดปริมาณขยะในแหล่งน้ำได้อย่างเห็นผล จากเดิมที่ต้องใช้แรงงานคนในการคอยดักตักขยะในแม่น้ำ ซึ่งทำได้ค่อนข้างลำบากและไม่ต่อเนื่องเพราะขยะลอยเข้ามาไม่เป็นเวลาและกระจายไปตามจุดต่างๆ ค่อนข้างมาก บางครั้งอาจอยู่ในจุดที่ลำบากต่อการจัดเก็บ การติดตั้งเครื่องดักขยะตามช่องทางไหลของน้ำจึงช่วยลดการใช้แรงงานและมีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะเมื่อขยะเข้าสู่เครื่องดักจะไม่สามารถออกไปได้ จึงกำหนดเวลาในการจัดเก็บขยะออกมากำจัดได้โดยสะดวก

สำหรับขยะที่ผ่านการคัดแยกแล้ว หากเป็นขยะที่รีไซเคิลได้จะนำไปเข้าธนาคารขยะชุมชนที่ปัจจุบันจัดตั้งขึ้นในรูปแบบธนาคารขยะเคลื่อนที่ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ออกหน่วยไปรับซื้อขยะตามชุมชนประมาณเดือนละครั้งเพื่อรวบรวมและขายให้กับบริษัทรับซื้อขยะ ในส่วนของขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ เช่น เศษไม้ ที่นอนเก่า โซฟา ก็จะถูกจัดส่งไปยังโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปเป็นก้อนเชื้อเพลิงต่อไป

“หากในอนาคตธนาคารกรุงเทพ ได้เข้ามาร่วมสนับสนุนสร้างจุดศูนย์กลางธนาคารขยะแบบถาวร เพื่อเป็นจุดศูนย์รวมขยะรีไซเคิล ประชาชนในพื้นที่ หรือ ใกล้เคียงก็จะสามารถเข้ามาใช้บริการได้ตลอดเวลา อีกทั้งยังเป็นจุดส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการแยกขยะให้แก่ชุมชน ซึ่งอาจมุ่งเน้นเป้าหมายไปยังกลุ่มเยาวชนในรูปแบบของ “ยุวทูตสิ่งแวดล้อม” เนื่องจากเป็นกลุ่มพลังคนรุ่นใหม่ที่สามารถส่งต่อองค์ความรู้ให้แก่คนในครอบครัว หรือ คนรอบตัวได้อย่างมีศักยภาพ” นายอนุสรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ “โครงการ ‘Bualuang Save the Earth: รักษ์ท่าจีน’ อยู่ระหว่างดำเนินโครงการในระยะนำร่อง โดยธนาคารกรุงเทพ จะมุ่งมั่นดำเนินการแก้ปัญหาขยะใน ‘แม่น้ำท่าจีน’ ร่วมกับหน่วยงานราชการท้องถิ่นและชุมชนอย่างจริงจัง ผ่านการวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันในทุกมิติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการจัดการขยะทางทะเลอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

 

Share: