สานต่อผลงานวิจัยของคนไทย “หุ่นจำลองสำหรับฝึกเจาะหลอดเลือดและใส่สายสวน”

392
0
Share:

มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) ร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย สานต่อผลงานวิจัยของคนไทย “หุ่นจำลองสำหรับฝึกเจาะหลอดเลือดและใส่สายสวน” ผลักดันสู่ภาคเอกชนเพื่อการผลิตและจำหน่ายหุ่นจำลองฯ เพิ่มทักษะความชำนาญของแพทย์เวชปฎิบัติ

 

 

มหาวิทยาลัยมหิดล โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และรองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ร่วมกับคุณโกศล บุญคง รองผู้ว่าการด้านธุรกิจ การยางแห่งประเทศไทย และคุณธนากร พูตระกูล กรรมการบริหารบริษัท เอส.ที.พี.เม็ดดิเทค จำกัด ได้ร่วมลงนามในสัญญาให้ใช้สิทธิ พร้อมกล่าวถึงความสำเร็จของผลงาน “หุ่นจำลองสำหรับฝึกเจาะเลือดและใส่สายสวน ระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ การยางแห่งประเทศไทย และบริษัท เอส.ที.พี.เม็ดดิเทค จำกัด ณ ห้องประชุมอรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตึกสิริกิตติ์ ชั้น 5 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงเป้าหมายในการผลักดันผลงานวิจัยให้เกิดเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ว่า “พิธีลงนามในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิของผลงานวิจัยเรื่อง หุ่นจำลองสำหรับฝึกเจาะหลอดเลือดและใส่สายสวน ถือเป็นการต่อยอดผลงานวิจัยผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีอันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยมหิดลและการยางแห่งประเทศไทย ให้แก่ภาคเอกชนในรูปแบบการอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Licensing) สิทธิบัตรการประดิษฐ์เพื่อนำไปผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ อีกทั้งยังเป็นต้นแบบในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของภาครัฐสู่ภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยมหาวิทยาลัยมหิดลมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้สร้างสะพานเพื่อส่งต่อองค์ความรู้ให้มีการนำไปใช้ในวงกว้าง ช่วยสร้างคุณค่าให้กับงานวิจัยได้อย่างมากมาย หรือที่เราพูดกันว่า “จากหิ้งสู่ห้าง” อย่างแท้จริง”

รองศาสตราจารย์ ดร. ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความร่วมมือและบทบาทของ iNT ที่มีส่วนผลักดันผลงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรมในครั้งนี้ “ทาง iNT ได้เล็งเห็นศักยภาพของหุ่นจำลองในเชิงพาณิชย์ จึงได้ดำเนินการยื่นจดคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาผลงานวิจัยหุ่นจำลองสำหรับฝึกเจาะหลอดเลือดและใส่สายสวนต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา ประเภทสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เลขที่คำขอ 2301003851 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 พร้อมเป็นตัวกลางในการจับคู่ธุรกิจเจรจาเพื่อตกลงจัดทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Licensing) ให้แก่บริษัท เอส.ที.พี.เม็ดดิเทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัท SMEs รุ่นใหม่ที่ประกอบกิจการผลิต และจำหน่ายเครื่องมือเครื่องใช้ รวมทั้งอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ทุกชนิด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้มีการนำเอาผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยไปใช้ประโยชน์ได้จริงในระดับอุตสาหกรรม อันถือเป็นการยกระดับนวัตกรรมทางการแพทย์และสนับสนุนผลงานนวัตกรรมที่ผลิตโดยคนไทยออกสู่เชิงพาณิชย์ในประเทศและออกสู่ตลาดต่างประเทศในอนาคต”

นายโกศล บุญคง รองผู้ว่าการด้านธุรกิจ การยางแห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่า “การยางแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรกลางที่รับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการยางพาราของประเทศไทยทั้งระบบอย่างครบวงจร และมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการพัฒนางานวิจัยด้านยางพารา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำยางพารามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งนโยบายของการยางแห่งประเทศไทย มุ่งเน้นสนับสนุนงานด้านวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรม และเทคโนโลยีเพื่อสร้างความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์จากยางพารา รวมถึงการนำผลงานวิจัยจากยางพาราไปใช้ประโยชน์ได้จริง”

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงปิยนุช พูตระกูล ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะแพทย์ผู้ประดิษฐ์นวัตกรรม ได้กล่าวว่า “การประดิษฐ์ผลงานนี้เกิดขึ้นจากการวิจัย ร่วมกับ นางสาวราตรี สีสุข สังกัดการยางแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดปัญหาและอุปสรรคในการเรียนการสอนฝึกเจาะหลอดเลือดและใส่สายสวนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการเจาะเลือดและใส่สายสวนที่บริเวณหลอดเลือดดำที่คอ เรียกได้ว่า เป็นหัตถการที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งเทคนิคการใส่จะต้องใช้แพทย์ที่มีความชำนาญ เพราะอาจส่งผลทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการฝึกซ้อมหัตถการนี้กับหุ่นจำลองเพื่อให้เกิดความชำนาญก่อนที่แพทย์จะลงมือปฏิบัติในผู้ป่วยจริง เพื่อลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนและลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยจากการทำหัตถการ โดยการประดิษฐ์ครั้งนี้ได้รับการคัดเลือกจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาในเรื่องความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศ นับเป็นอีกก้าวสำคัญในการยกระดับนวัตกรรมทางการแพทย์ของไทย นอกจากนี้ยังเป็นการสานต่อนโยบายรัฐบาลที่มุ่งให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศแห่งนวัตกรรมและสามารถออกสู่เชิงพาณิชย์ในระดับนานาชาติได้ รวมถึงตอบรับแนวคิด Thailand transformation ของอุตสาหกรรม 5.0”

คุณธนากร พูตระกูล กรรมการบริหารบริษัท เอส.ที.พี.เม็ดดิเทค จำกัด กล่าวถึงแผนการดำเนินงานหลังจากที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้สิทธิผลงานวิจัยหุ่นจำลองสำหรับฝึกเจาะหลอดเลือดและใส่สายสวน “บริษัทมีแผนการดำเนินการด้านธุรกิจและการตลาด เริ่มตั้งแต่ในระยะแรกจะซื้อหุ่นจำลองตัวต้นแบบจากการยางแห่งประเทศไทย และรับถ่ายทอดองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยมหิดลและการยางแห่งประเทศไทย จนกระทั่งสามารถผลิตหุ่นจำลองที่ได้รับมาตรฐานได้เอง จากนั้น วางแผนที่จะทำการตลาดในโรงพยาบาลต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าเป็นจำนวนมากต่อไป”

Share: