BMHH ออกแบบโรงพยาบาลบนพื้นฐานความใส่ใจผู้ป่วยสุขภาพจิต เน้นความปลอดภัย ผสานมุ่งสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้บริการ

205
0
Share:

การรักษาด้านสุขภาพจิตมีความเฉพาะเจาะจงแตกต่างจากสุขภาพกายอย่างมาก และสภาพแวดล้อมถือเป็นหนึ่งปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการดูแลผู้ป่วย นั่นทำให้โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต Bangkok Mental Health Hospital หรือ BMHH มีความโดดเด่นแตกต่างจากโรงพยาบาลทั่วไป ตั้งแต่ตัวอาคาร การเลือกใช้วัสดุ การออกแบบตกแต่ง การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ รวมถึงรูปแบบการบริการ ซึ่งต้องสอดคล้องเหมาะสมกับการดูแลผู้ป่วยสุขภาพจิต

พญ.ปวีณา ศรีมโนทิพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต BMHH เปิดเผยว่า ผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตจะมีความเปราะบางทางจิตใจค่อนข้างสูง ซึ่งสภาพแวดล้อมภายในโรงพยาบาลเป็นหนึ่งปัจจัยที่มีผลกระทบต่อผู้ป่วย เพราะหากเข้ามารับรักษาแล้วเจอสิ่งที่รู้สึกว่าไม่ใช่ก็จะไม่อยากมาอีกเลย ทำให้ก่อนก่อสร้างโรงพยาบาลต้องมีการวางแผนอย่างละเอียดรอบคอบ ตั้งแต่เรื่องการออกแบบ การเลือกใช้วัสดุ การใช้สี การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ รวมถึงการออกแบบการให้บริการ ต้องสร้างบรรยากาศให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและอบอุ่นเหมือนเป็นบ้าน โดยการออกแบบโรงพยาบาลด้านสุขภาพจิตจะมุ่งเน้นใน 2 ประเด็นหลัก เริ่มจากประเด็นแรกที่มีความสำคัญที่สุดคือ เรื่องความปลอดภัยของทั้งผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ เพราะผู้ป่วยบางกลุ่มโรคมีความเสี่ยงที่จะทำร้ายตัวเองและเจ้าหน้าที่ ส่วนประเด็นต่อมาเป็นเรื่องของการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้เข้ามารับการบริการ

สำหรับเรื่องความปลอดภัยนั้น วิธีการออกแบบของโรงพยาบาล BMHH จะดูว่ามีกระบวนการใดบ้างที่ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสทำร้ายตัวเองและคนอื่นเกิดขึ้นน้อยที่สุด และจุดไหนมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย เริ่มตั้งแต่เข้าจนถึงออกจากโรงพยาบาล  โดยอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในโรงพยาบาลจะไม่ใช้วัสดุมีคมและเชือกที่อาจนำมาใช้เป็นอาวุธได้ เช่น ตึกจะใช้กระจกเทมเปอร์ที่ไม่แตกเป็นเศษมีคม ภายในห้องผู้ป่วยไม่มีข้าวของเครื่องใช้ที่แตกได้ เช่น กระเบื้อง หรือของมีคม เช่น มีด ส้อม ถังขยะในห้องผู้ป่วยจะใช้แบบฝาสวิงไม่มีก้านเหล็ก ชุดผู้ป่วยใช้เป็นยางยืดแทนเชือก ส่วนผ้าม่านก็ใช้แบบไม่มีเชือก รวมถึงใช้ขอแขวนแทนราวแขวนผ้า และไม่มีลูกบิดประตู เพื่อป้องกันการแขวนคอ แม้แต่ต้นไม้ในสวนก็เลือกประเภทที่มีกิ่งเปราะบางหักง่ายรับน้ำหนักมากไม่ได้

นอกจากนี้ ยังมีระบบการควบคุมภายในที่เข้มงวด เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ล็อคประตูจากด้านในไม่ได้ หรือประตูทุกทางที่ผู้ป่วยสามารถวิ่งออกไปได้จะมีระบบ Alarm เตือนเมื่อมีคนเปิดประตู และหากเป็นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงอาจจะต้องล็อคห้องจากด้านนอก ซึ่งทุกห้องจะมีกล้องวงจรปิดต่อมายังเคาน์เตอร์พยาบาลทำให้สามารถเห็นกิจกรรมที่ผู้ป่วยกระทำได้ตลอดเวลา และบางพื้นที่จะถูกกำหนดไม่ให้ผู้ป่วยออกไปคนเดียว ต้องมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลด้วย และบัตรของพนักงานทุกคนจะมีสิทธิ์ไม่เท่ากันในการเข้าถึงบริเวณต่าง ๆ รวมถึงมีการออกแบบบริการให้สอดคล้องกันไปด้วย โดยเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลต้องทำงานตามแผนงานอย่างเคร่งครัด เพราะระบบรักษาความปลอดภัยคงไม่สามารถป้องกันได้ 100% ซึ่งโรงพยาบาลจะมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ถึงวิธีการทำงานต่าง ๆ

พญ.ปวีณา กล่าวต่อว่า แม้โรงพยาบาลจะมุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นที่ตั้ง แต่ก็ไม่ต้องการให้มีภาพที่น่ากลัวคล้ายห้องขัง จึงนำเรื่องการออกแบบตัวอาคารมาผสมกับ Design Service บวกด้วยการตกแต่งภายใน ซึ่งทั้งภายนอกและภายในจะอยู่ภายใต้แนวคิด Therapeutic Biophilic Design เน้นความเป็นธรรมชาติให้มากที่สุด เพราะสัญชาตญาณของมนุษย์จะผูกพันและรู้สึกสบายเมื่ออยู่กับธรรมชาติ จึงนำเรื่อง Nature based Design มาประยุกต์ใช้ เช่น ตัวตึกเลือกเป็นอิฐที่แม้จะดูมีความแข็งแรงแต่ในขณะเดียวกันไม่ได้รู้สึกว่าแข็งกร้าว ดูมีความอบอุ่นให้ความรู้สึกเป็นบ้าน เพื่อให้คนที่เดินเข้ามาไม่ต้องกังวลเหมือนมาคุยกับเพื่อนหรือมาพักผ่อน แม้แต่ที่จอดรถก็เน้นสีธรรมชาติ และสิ่งสำคัญต้องสว่าง เพราะผู้ป่วยสุขภาพจิตจะไม่ชอบความมืดสลัว และจะหลีกเลี่ยงการใช้สีดำ รวมถึงสีที่ดูแล้วทำให้เกิดความรู้สึกหม่นหมอง

การเลือกใช้สีในการตกแต่งเป็นอีกเรื่องที่โรงพยาบาลให้ความสำคัญ โดยจะเน้นโทนสีธรรมชาติและดูอารมณ์ของสีด้วย จึงเป็นที่มาของการใช้ 3 สีหลัก ได้แก่ เขียว ฟ้า และสีเบจ ซึ่งเป็นสีกลาง ๆ ที่ไม่กระตุ้นอารมณ์ของผู้ป่วยและดูอบอุ่น ทำให้รู้สึกสบายเข้าได้กับทุกสี สีฟ้าให้ความรู้สึกเย็น สงบ ในขณะที่สีเขียวเป็นความสดชื่น ซึ่งสีดังกล่าวถูกนำมาใช้กับชุดแต่งกายของพนักงานที่ใช้เป็นชุดสครับ (scrubs) เพื่อความคล่องตัวในการทำงาน ส่วนสีอื่นที่อาจเอามาเติมบ้างจะเป็นสีเหลืองเป็นการเพิ่มพลังบวก นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังช่วยให้ผู้เข้ามารู้สึกผ่อนคลายด้วยเสียงดนตรีบรรเลง อีกทั้งยังมีหนังสืออ่านเล่นที่ให้พลังบวกสำหรับญาติผู้ป่วยในช่วงนั่งรอผู้ป่วยอีกด้วย

พญ.ปวีณา กล่าวทิ้งท้ายว่า “ปัจจุบันคนไทยเปิดกว้างมากขึ้น และภาพจำเกี่ยวกับโรงพยาบาลจิตเวชก็เปลี่ยนไปจากเดิม  รู้ว่าการปรึกษาจิตแพทย์เป็นทางออกหนึ่งในชีวิต ซึ่งวิธีการวางแผนดูแลผู้ป่วยสุขภาพจิตจะมีความแตกต่างจากสุขภาพกาย เพราะมีเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก และยังมีมิติอื่น ๆ ในตัวโรคเองด้วย การแยกออกมาเป็นโรงพยาบาล BMHH เพื่อให้ดีไซน์ทุกอย่างได้ตามที่อยากทำและควรทำสำหรับผู้ป่วยสุขภาพจิต ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลรองรับผู้ป่วยนอก 26 ห้อง และผู้ป่วยใน 30 เตียง ซึ่งเรามีวิสัยทัศน์ต้องการพัฒนาโรงพยาบาลให้ไปในเชิงการรักษาเฉพาะทางมากขึ้นในอนาคต เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับสิ่งที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุด โดยมีแผนจะเปิดเป็นศูนย์เฉพาะทางเพิ่มเติม เช่น ศูนย์รักษาโรคซึมเศร้า ให้เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่พร้อมจะมาใช้บริการในภาคเอกชน”

 

Share: