“อิมแพ็ค” ปรับกลยุทธ์การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลยุค Next Normal

260
0
Share:

เสริมสร้างแนวคิดนวัตกรรม ปรับโครงสร้าง เพิ่มทักษะ ดึงคนรุ่นใหม่ร่วมงาน

 

 

อุตสาหกรรมไมซ์เข้าสู่ยุคใหม่ “อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์” ยอมรับ “คน” กลายเป็นความท้าทายหลัก เทคโนโลยีไม่ช่วยตอบโจทย์ได้ทั้งหมดเหมือนธุรกิจอื่น เตรียมพร้อมทุกมิติ เน้นการสร้างแนวคิดนวัตกรรม เร่งเติมทักษะให้บุคลากร พร้อมดึงคนรุ่นใหม่เข้าร่วมงาน รองรับธุรกิจฟื้นตัวพร้อมๆกับการสร้างการเติบโตให้แก่องค์กร

นางสาวทมิตา จงสวัสดิ์วรกุล ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลองค์กร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า ผลจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา และต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ทำให้ทุกธุรกิจต้องปรับตัวอย่างมาก เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่ง อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ในฐานะผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ก็ต้องปรับตัวต่อเนื่องในทุกมิติเช่นกัน รวมถึงประเด็นการบริหารจัดการทรัพยากรบุคลากรที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยเฉพาะการบริหารจัดการทรัพยากรบุคลากรในอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE: Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions) ที่มีความท้าทายมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ เนื่องจากต้องใช้แรงงานคนเป็นหลัก

“ช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 หลายองค์กรปรับรูปแบบให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) หรือเปิดกว้างให้สามารถทำงานจากทุกที่ (Work from anywhere) ยืดหยุ่นเวลาเข้าทำงาน รวมถึงนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำงานแทนแรงงานคนในบางส่วนงาน เพื่อลดจำนวนบุคลากรและควบคุมค่าใช้จ่าย แต่สำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ที่ อิมแพ็ค อยู่ อาจไม่สามารถนำเทคโนโลยี หรือแนวทางที่หลายๆ องค์กรทำ มาปรับใช้กับการบริหารจัดการงานของศูนย์ประชุมฯได้ทั้งหมด เพราะธุรกิจนี้มีความจำเป็นต้องใช้ “คน”เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นสิ่งที่ทำ คือ สนับสนุนให้พนักงานพัฒนาตนเองด้วยการเพิ่มทักษะใหม่ๆ เรียนรู้พร้อมกับนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาปรับใช้เพื่อช่วยในการทำงานให้สะดวก รวดเร็วขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ให้พร้อมรองรับทุกความต้องการของลูกค้า ทั้งยังมีการปรับโครงสร้างองค์กรให้คล่องตัวขึ้นด้วยการควบรวมบางแผนกเข้าด้วยกัน ปรับแยกสายงานให้เหมาะสม เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น”

อย่างไรก็ตามเมื่อการแพร่ระบาดโควิด-19 ยังอยู่ และสิ่งที่เกิดขึ้นจากแนวโน้มตลาดแรงงานทั่วโลก คือ การลาออกของพนักงานเป็นจำนวนมาก (The Great Resignation) จากความเห็นส่วนตัวเชื่อว่าไม่น่าจะมีผลกระทบนี้ในประเทศไทยมากเนื่องจากระบบสวัสดิการต่างๆ ยังไม่รองรับ แต่เรื่องที่น่าจะกระทบกับทุกธุรกิจคือ เกิดภาวะการหาคนยาก โดยอาจมีหลายสาเหตุ เช่น คนที่เคยออกจากระบบการทำงานไปเมื่อช่วงที่เกิดวิกฤต ไม่กลับเข้าสู่ระบบการทำงานประจำ อาจเป็นเพราะช่วงวิกฤตที่ผ่านมาได้สร้างธุรกิจส่วนตัวแล้ว หรือ มีอาชีพเสริมที่มีความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น รวมถึงสไตล์การทำงานของคนรุ่นใหม่ที่อาจจะไม่ชอบการทำงานประจำ และวิถีการทำงานแบบใหม่ๆที่เกิดขึ้นช่วงโควิด ทำให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของหลายๆ องค์กรกำลังเผชิญปัญหาเดียวกันคือ การหาคนทำงานยากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กร ทำให้หลายบริษัทต้องปรับแผนการบริหารงานบุคคล ปรับโครงสร้างงานให้มีความยืดหยุ่น รองรับวิถีการทำงานแบบใหม่ที่เกิดขึ้น

ในส่วนของอิมแพ็ค ปัจจุบันจำนวนการจัดงานประชุม สัมมนา คอนเสิร์ต เริ่มฟื้นตัวกลับมา ทำให้มีความจำเป็นต้องปรับแผนในเรื่องบุคลากรให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป ทั้งการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจ้างพนักงานใหม่ให้มีหลายแนวทางขึ้น เช่น การจ้างงานแบบ Project Based หรือแบบ Gig Economy เพื่อสอดรับกับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความยืดหยุ่นในการทำงาน รวมถึงทางเลือกในการใช้ Outsource ในบางงานที่ทำได้ ปรับกระบวนการทำงานไปสู่ HR Tech โดยพัฒนาระบบและเทคโนโลยีใหม่ๆด้าน HR รวมถึงการปรับแผน Employer Branding เพื่อให้สามารถเข้าถึงและดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้สนใจมาทำงานกับทางอิมแพ็คมากขึ้น

ขณะเดียวกัน อิมแพ็ค ก็มีโครงการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ ผ่านโครงการกล้า MICE ซึ่งเป็นเสมือนแคมป์สำหรับนักศึกษาฝึกงานโครงการแรกของอุตสาหกรรมไมซ์ที่เกิดขึ้นปีแรกในปี2562 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในการทำงานในอุตสาหกรรมไมซ์ พร้อมแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรและสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ธุรกิจไมซ์ โดยวางแผนระยะยาวไปถึงการทำ MICE Academy ในอนาคต ซึ่งนักศึกษาที่ต้องการเข้าสู่เส้นทางวิชาชีพในธุรกิจนี้จะมีโอกาสเรียนรู้ลงมือทำในทุกสายงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้ สำหรับในปีนี้ โครงการกล้า MICE รุ่น 4 เปิดรับนักศึกษาทุกสาขาวิชาจากทุกสถาบันผ่าน Facebook Page: กล้า MICE ในวันที่ 26 พฤศจิกายน – 18 ธันวาคม 2565

“โครงการกล้าMICE สอดรับกับทิศทางของอิมแพ็ค ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในด้านสังคม โดยนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการกล้า MICE แล้ว ไม่จำเป็นต้องทำงานกับอิมแพ็คเท่านั้น แต่เราเปิดกว้างให้ทุกคนสามารถร่วมงานกับองค์กรอื่นๆในอุตฯนี้ด้วย ซึ่งถือเป็นอีกเป้าหมายสำคัญของอิมแพ็คที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างและส่งเสริมบุคลากรให้แก่อุตสาหกรรมไมซ์ไทย”

สำหรับการพัฒนาบุคลากรในองค์กร ทางบริษัทเร่งเสริมสร้างทักษะใหม่ๆแก่พนักงาน ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 2,000 คน ให้มีทักษะการทำงานที่หลากหลาย (Multi Skill) และพยายามปลูกฝังแนวคิดด้านนวัตกรรม (Innovative Mindset) ให้พนักงานโดยได้ริเริ่มโครงการประกวดนวัตกรรม R2i (From Routine to Innovation) ขึ้น ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการคิดนอกกรอบ การคิดแก้ปัญหาจากแนวทางใหม่ๆ และเปิดโอกาสให้บุคลากรได้แสดงศักยภาพของตนเอง สร้างความมีส่วนร่วมในการช่วยพัฒนาองค์กร โดยปีนี้จัดเป็นปีที่ 4 แล้ว และมีหลายผลงานที่ได้รับคัดเลือกไปพัฒนาให้เกิดขึ้นจริงในเชิงธุรกิจด้วย

“ทางบริษัทยังให้ความสำคัญในการสร้างโอกาสการเติบโตให้พนักงานภายในองค์กร โดยมีโอกาสปรับเปลี่ยนงานภายในบริษัทและบริษัทในเครือ เปิดให้พนักงานสามารถทำงาน Part-time ในบริษัทเพื่อเพิ่มรายได้ มีการปรับเปลี่ยนแผนสวัสดิการพนักงาน เน้น Wellness Program เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่พนักงาน(Employee Experience) ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีการทำงานของคนที่เปลี่ยนไปในยุคนี้ นอกจากนี้ยังเปิดกว้างในการยอมรับและปฏิบัติด้วยความเสมอภาคในทุกเพศ อายุ ศาสนา วัฒนธรรม และผู้พิการ ทั้งพนักงาน และลูกค้าด้วย”

Share: